เปลี่ยนคาบแนะแนวให้ปัง! เรียนรู้สนุกสุดพลังไปกับ Project Based Learning

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 176 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

เราจะออกแบบการสอนอย่างไรดี ให้คาบแนะแนวที่มีเวลาเพียง 60 นาทีนี้​ กลายเป็นคาบที่นักเรียนได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ สามารถต่อยอดและเชื่อมโยงเนื้อหา และที่สำคัญได้ทักษะชีวิตอย่างแน่นอน!

แทแด๊นน ! กระบวนการสอนที่แนะแนวฮับมานำเสนอวันนี้ก็คือ กระบวนการสอนแบบโครงงาน (Project Based Learning) นั่นเอง

กระบวนการสอนแบบโครงงานเป็นกระบวนการสอนที่มุ่งให้นักเรียนได้เจอโจทย์ปัญหาที่อยากแก้ด้วยตัวเอง เป็นการเชื่อมโยงความสนใจ หรือปัญหาของนักเรียนมาสู่การลงมือปฏิบัติ

ความสนุกของการเรียนแบบโครงงาน คือ นักเรียนจะได้พบกับความท้าทายในการทำงาน อาจเป็นอุปสรรคปัญหา หรือเรื่องให้ขบคิดชวนหาคำตอบ ซึ่งนักเรียนจะต้องระดมสมองกันหาทางแก้ไข โดยจะมีคุณครูที่เปลี่ยนบทบาทจากผู้สอน มาเป็นโค้ชคอยตั้งคำถามและติดตามผลแทน

เอาล่ะ! เรามาลองดูขั้นตอนกระบวนการสอนกันเลย 😎

ชื่อภาพ

กระบวนการที่ 1: ชวนนักเรียนตั้งประเด็นปัญหา

การให้นักเรียนรู้สึกได้เป็นเจ้าของปัญหานั้นด้วยตัวเอง คือจุดเริ่มต้นของการสอนแบบโครงงาน โดยคุณครูอาจจะใช้วิธีการต่อไปนี้กระตุ้นให้นักเรียนฝึกตั้งประเด็น

  1. ครูโยนคำถามว่า “นักเรียนเห็นปัญหา หรือความท้าทายอะไรในคาบเรียนวิชาแนะแนวบ้าง เลือกมา 3 เรื่อง”
  2. ครูเปิดพื้นที่ให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น ผ่านการเขียน post it ปัญหาละ 1 แผ่น ตัวอย่างเช่น
  3. เพื่อนในห้องยังไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองมีเป้าหมายหรือความถนัดอะไรในชีวิต
  4. เพื่อนทะเลาะกัน
  5. ไม่สามารถตัดสินใจเลือกคณะ/มหาวิทยาลัยหลังจบ ม.6 ได้
  6. การสื่อสารกับผู้ปกครองเมื่อความเห็นไม่ตรงกัน
  7. ครูจับกลุ่มปัญหาทั้งหมดที่นักเรียนเขียนออกมา เช่น ความสัมพันธ์ การค้นหาตัวเอง สุขภาพจิต ฯลฯ
  8. ครูให้นักเรียนจับกลุ่ม 4-5 คน และเลือกปัญหาที่กลุ่มของตัวเองอยากแก้ไข

ชื่อภาพ

กระบวนการที่ 2: ออกแบบตารางนัดหมายและวางแผนงาน

ให้นักเรียนออกแบบแผนงานและกำหนดวันต่างๆ เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงงานที่นักเรียนแต่ละกลุ่มทำ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญมากในการทำให้โครงงานเสร็จสมบูรณ์

ตัวอย่าง ชุดคำถามเพื่อชวนนักเรียนแต่ละกลุ่มวางแผนการทำงานของตัวเอง

  • นักเรียนคิดว่าจะมีกิจกรรมอะไรขึ้นบ้างตลอดทั้งโครงงาน
  • ในแต่ละกิจกรรม นักเรียนคิดว่าจะใช้เวลาเท่าไร
  • นักเรียนคิดว่าจะส่งโครงงานนี้ภายในวันที่เท่าไร
  • นักเรียนจะใช้เวลากี่วัน ต่อสัปดาห์ในการทำโครงงานนี้
  • นักเรียนจะนัดพบครู เพื่อให้ช่วยดูความคืบหน้าในชั่วโมงไหนบ้าง เช่น ในคาบแนะแนว หรือหลังเลิกเรียน

ชื่อภาพ

กระบวนการที่ 3 : ชวนนักเรียนระดมความคิดเกี่ยวกับความท้าทายที่อาจเกิดตลอดโครงงาน

เป็นกระบวนการที่ชวนให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้โครงงานไม่เสร็จสมบูรณ์ คุณครูสามารถแทรกกระบวนการนี้ได้ หลังจากที่นักเรียนออกแบบตารางนัดหมายและวางแผนแล้ว

การชวนนักเรียนมาช่วยกันระดมความคิดในหัวข้อนี้ จะช่วยให้นักเรียนค้นพบวิธีการแก้ปัญหาและมีแผนสำรองให้กับตัวเอง

ตัวอย่างชุดคำถามเพื่อชวนนักเรียนแต่ละกลุ่มนึกถึงความท้าทายในการทำงานของตัวเอง

  • คิดว่าในระหว่างการทำโครงงาน จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง และเพราะอะไร
  • หากเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาจริงๆ นักเรียนจะทำอย่างไร หรือจะขอความช่วยเหลือจากใครบ้าง

ชื่อภาพ

กระบวนการที่ 4 : ปล่อยให้นักเรียนได้ลงมือทำตามแผน

กระบวนการนี้อาจทำให้คุณครูรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้สอนอะไรเลย แต่ความเป็นจริง จะเป็นช่วงเวลาที่คุณครูได้สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละกลุ่ม และจดบันทึกวิธีการทำงานของนักเรียนแต่ละคน เพื่อเตรียมนำไปสะท้อนในช่วงเวลาที่ติดตามผลโครงงาน ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้นด้วย

ตัวอย่างประเด็นในการจดบันทึกพฤติกรรมนักเรียน

  • นักเรียนมีวิธีการทำงานร่วมกับเพื่อนในกลุ่มอย่างไร
  • นักเรียนมีวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร
  • นักเรียนแบ่งเวลาในการทำงานอย่างไร

ชื่อภาพ

กระบวนการที่ 5 : ติดตามและสะท้อนการผลการเรียนรู้ร่วมกัน

หัวใจสำคัญของกระบวนการนี้ คือ การติดตามและประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาการทำงานของตัวเองต่อไปอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านขององค์ความรู้และทักษะที่เกิดขึ้นจากการทำงาน การรู้จักตัวเอง และการรู้จักเพื่อนในกลุ่ม โดยวิธีการติดตามและสะท้อนผลการเรียนรู้สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น

  • การประเมินแบบ 360 องศา คือการประเมินที่ครอบคลุมรอบด้าน ครูสะท้อนนักเรียน นักเรียนสะท้อนเพื่อน นักเรียนสะท้อนตัวเอง ซึ่งอาจจะใช้วิธีการให้นักเรียนนำเสนอผลงานกลุ่มตัวเอง หลังจากนั้นให้คุณครูเป็นผู้ให้ความเห็น ถัดมาเป็นเพื่อนร่วมห้อง/เพื่อนในกลุ่มให้ความคิดเห็น และลำดับสุดท้ายให้นักเรียนสะท้อนตนเอง เป็นต้น

ตัวอย่างประเด็นที่คุณครูสามารถใช้ในการสะท้อนนักเรียน

  • กระบวนการทำงาน และความรู้สึกต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
  • กระบวนการทำงานร่วมกันกับเพื่อน
  • บทบาทของตนเองและเพื่อน
  • การกำหนดเป้าหมายและการไปถึงเป้าหมาย
  • ความรู้และทักษะที่ได้รับจากการทำงานโครงการ
  • ข้อเสนอแนะที่นักเรียนจะนำไปต่อยอด
  • ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังทำโครงการ . . ทั้ง 5 กระบวนการนี้ คุณครูสามารถลองนำไปปรับใช้กับเวลาที่มีในแต่ละสัปดาห์ได้ เพราะบางกระบวนการไม่สามารถที่จะทำให้เสร็จภายใน 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับการนัดหมายและการจัดการเวลาของนักเรียนแต่ละกลุ่มค่ะ

หากคุณครูลองออกแบบคาบแนะแนวเป็นกิจกรรมแบบ Project Based Learning คาบเรียนจะเต็มไปด้วยหัวข้อที่หลากหลายและน่าสนใจแน่นอนค่ะ! นอกจากนี้ คุณครูจะได้สลับบทบาทจากผู้สอนมาเป็นโค้ช คอยตั้งคำถามและให้คำปรึกษาให้นักเรียนได้คิดและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ที่สำคัญ นักเรียนจะได้ร่วมมือกันค้นหาทางออกให้กับสถานการณ์ท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นในชีวิตประจำวันหรือในห้องเรียน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวพวกเขาอย่างยั่งยืนค่ะ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการสอนแบบโครงงานสามารถช่วยให้นักเรียนเกิดทักษะที่สำคัญ แถมผลงานของนักเรียนในแต่ละกลุ่ม คุณครูยังสามารถนำไปใช้เป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ประกอบการทำวิทยฐานะ วPA ได้อีกด้วยนะคะ 😍

ขอให้คุณครูสนุกกับการสอนน้า 👍


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา