ตั้งความหวังกับเด็กๆ ยังไง ไม่ให้หมดไฟและเป็นไปได้จริง
หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู
Tags: ไอเดียการสอน
อ่านแล้ว: 173 ครั้ง
แนะแนวฮับเชื่อว่า ความคาดหวังส่วนใหญ่ของคุณครูที่มีต่อนักเรียน เริ่มต้นจากความปรารถนาดีต่อนักเรียนทุกคน
อยากให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับกิจกรรม ตั้งใจเรียน มีความรับผิดชอบตามบทบาทของตนเอง มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในห้องเรียน แต่…ในหลายๆ ครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็อาจจะไม่เป็นอย่างที่ครูคาดหวังนัก ทำให้คุณครูหลายคนรู้สึกเสียใจในผลลัพธ์ ผิดหวังในความคาดหวังของตัวเอง หรืออาจนำมาซึ่งการตั้งคำถามกับตัวเอง การตำหนิตัวเองซ้ำไปซ้ำมาว่าเราทำหน้าที่ของเราได้ดีที่สุดแล้วหรือยัง และถ้าหากเราปล่อยให้เสียงภายในเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเองบ่อยครั้งอาจนำไปสู่สภาวะหมดไฟในการทำงานได้ 🙁
เพราะบางครั้งการที่นักเรียน “ไม่ทำตาม” อาจเกิดจากความ “ไม่เข้าใจ”
อาจมีเหตุผลต่างๆ มากมาย ที่ซ่อนอยู่ภายใต้การกระทำของพวกเขา
แนะแนวฮับรับรู้ความรู้สึกที่คุณครูต้องเผชิญ และอยากช่วยเป็นสื่อกลางประสานความเข้าใจระหว่างครูและนักเรียน จึงขอนำเสนอ 5 วิธีการในการสื่อสารและจัดการความควาดหวังเพื่อสร้างห้องเรียนในฝันที่มีแต่ความเข้าใจมาฝากคุณครูค่ะ คุณครูจะนำไปปรับใช้อย่างไรบ้าง ตามมาอ่านกันเลย 😍
1) รู้ชัดว่าตัวเองกำลังคาดหวังอะไร
สิ่งสำคัญอย่างแรก คือ ขอให้คุณครูตอบตัวเองให้ได้ว่า เรากำลังคาดหวังอะไรต่อนักเรียน หรือต่อห้องเรียนของเรา ซึ่งเชื่อว่าในแต่ละห้องเรียน คุณครูจะมีความคาดหวังที่แตกต่างกัน ดังนั้น ขอให้คุณครูลองเขียนความคาดหวังของตัวเองออกมาใส่สมุดบันทึกของตนเอง เพื่อเราจะได้เห็นความคาดหวังของตัวเองชัดเจนขึ้น
ตัวอย่างความคาดหวัง
-
ห้องม.1/9 คาดหวังให้นักเรียนห้องนี้ตั้งใจเรียนและเป็นเด็กดี
-
ห้องม.6/1 คาดหวังให้นักเรียนห้องนี้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ทุกคน
2) ย่อยความคาดหวังออกมาให้เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้
เมื่อคุณครูเขียนความคาดหวังของตนเองแล้ว เราจะเห็นว่าบางความคาดหวังนั้นอาจจะใหญ่เกินไปหรือจับต้องไม่ได้ และในห้องเรียนซึ่งเป็นพื้นที่แห่งความแตกต่างหลากหลาย ความหวังของเราอาจไม่รองรับเงื่อนไขในชีวิตของเด็กบางคน ดังนั้นการย่อยความหวังให้จับต้องได้และโอบรับความหลากหลายจึงสำคัญ
ตัวอย่างความหวังที่จับต้องไม่ได้ เช่น อยากให้นักเรียนเป็นเด็กดี เป็นต้น
เพราะคำว่า ‘เด็กดี’ มีความหมายกว้างเกินไป และทุกคนอาจตีความคำๆนี้แตกต่างกัน ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องขยายความ หรือให้นิยามคำว่า ‘เด็กดี’ ร่วมกันใหม่ โดยการทำให้ออกมาเป็นพฤติกรรมที่มองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยลดอคติการเหมารวม หรือการมองข้ามจุดดีไปได้
ตัวอย่างการย่อยความหวัง
-
จาก ‘ความหวังให้นักเรียนเป็นเด็กดี’ เปลี่ยนเป็น ‘คาดหวังให้นักเรียนจำนวน 50% ของห้อง ส่งงานตรงเวลามากขึ้น หรือ คาดหวังให้นักเรียนห้องนี้ 70% ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันในโรงเรียน’
-
จากคาดหวังให้นักเรียนห้องนี้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ทุกคน เป็น นักเรียนห้องนี้มีแผนหลักและแผนสำรองในการใช้ชีวิตหลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
3) สื่อสารความคาดหวังออกไปให้นักเรียนรับรู้
บ่อยครั้งที่นักเรียนมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามที่ครูคาดหวัง เป็นเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าพฤติกรรมนั้นส่งผลต่อคนอื่นอย่างไร และคนอื่นคาดหวังอยากที่จะให้พวกเขามีพฤติกรรมอย่างไร ดังนั้น หลังจากที่คุณครูย่อยความคาดหวังให้ออกมาเป็นรูปธรรมที่มองเห็นและจับต้องได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การสื่อสารความคาดหวังให้นักเรียนได้รับรู้ และร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่าแต่ละคนคิดอย่างไร เพื่อหาข้อสรุป
การชวนนักเรียนแสดงความคิดเห็นร่วมกันอาจทำให้คุณครูเห็นมุมมองของนักเรียนที่มีความคาดหวังของคุณครู เห็นการตีความของพวกเขาที่อาจไม่ตรงกันในตอนแรก ซึ่งจะช่วยหาตรงกลางของความคาดหวังได้ เช่น ห้องเรียนแบบไหนที่นักเรียนจะส่งงานตรงเวลาให้คุณครูได้ หรือเราจะสื่อสารกันอย่างไรถ้าส่งงานไม่ทัน
นอกจากนี้ การบอกกับนักเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่าเราคาดหวังอะไรในตัวพวกเขา จะช่วยเสริมสร้างทักษะการเห็นคุณค่าในตัวเอง พร้อมทั้งเสริมความมั่นใจว่าพวกเขาสามารถทำสิ่งนี้ได้
ตัวอย่างการสื่อสารความคาดหวัง
- คุณครูต้องการให้นักเรียนม.1/9 ส่งงานให้คุณครูตรงเวลา และหากใครที่ไม่สามารถส่งงานได้ครูอยากให้ติดต่อครูล่วงหน้าเพื่อขอเลื่อนวัน ครูเชื่อว่าพวกเราสามารถช่วยกันทำสิ่งนี้ได้ ถ้าพวกเราสามารถทำได้ ครูจะเพิ่มคะแนนโบนัสพิเศษให้ทุกคน
4) ยินดีกับความสำเร็จเล็กๆ แต่ไม่ละสายตาจากความคาดหวังที่ยิ่งใหญ่
ถึงแม้คุณครูจะพยายามปรับเปลี่ยนความคาดหวังของตัวเองมากแค่ไหน แต่ก็อาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เกิดความรู้สึกผิดหวังขึ้นได้อีก และการเปลี่ยนแปลงก็ต้องใช้เวลา นักเรียนหนึ่งคนอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นอีกคนได้ทันทีตามที่ครูต้องการ เช่น เด็กชาย A จากที่ไม่ส่งงานเลย 100% อาจเริ่มส่งงานให้คุณครูตรงเวลามากขึ้น 50% ดังนั้นอยากให้คุณครูยินดีกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นระหว่างทาง และชื่นชมพัฒนาการที่เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยจะช่วยให้คุณครูมีพลังใจที่ดีขึ้น ไม่หมดไฟไปซะก่อน
อย่างไรก็ตาม การพยายามรักษามาตรฐานความคาดหวังเดิมเอาไว้ตั้งแต่แรก ก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานของเราของพัฒนาก้าวหน้าขึ้นไปอีก
ตัวอย่างการยินดีกับความสำเร็จ
-
ชื่นชมนักเรียนร่วมกันเมื่อบรรลุเป้าความคาดหวัง
-
จัดปาร์ตี้เล็กๆ ในห้องเรียนเพื่อชื่นชมความสำเร็จร่วมระหว่างคุณครูกับนักเรียน
-
คุณครูชื่นชมตัวเองผ่านการเขียนไดอารี่
5) หาเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อน
การแบกความคาดหวังอาจทำให้คุณครูเหนื่อยล้าได้ การพักผ่อน เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่คุณครูควรจะหาเวลาให้ตัวเองได้ทำอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ได้หมายถึงการพักกายอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงการพักจากความคาดหวังต่างๆ ที่ตัวเองมีต่อตัวเอง และมีต่อคนอื่นด้วย ซึ่งจะช่วยให้ครูมีพลังในการทำงานกับเด็กๆ ต่อไป
ตัวอย่างกิจกรรมในการพักผ่อน
-
ออกไปกินข้าวกับเพื่อน
-
ดูหนัง ฟังเพลง
-
วาดรูป
-
เข้าร่วมกิจกรรมเยียวยาจิตใจ
ท้ายที่สุดแล้ว แนะแนวฮับเชื่อว่าทุกความหวังคุณครูล้วนออกมาจากหัวใจที่หวังดีต่อนักเรียน เพียงแค่จะต้องหมั่นทบทวนความคาดหวังของตนเองให้ชัดเจน และสื่อสารกันให้เข้าใจ
ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ที่เราเฝ้ารอ อาจจะไม่ได้สำเร็จในเร็ววัน ก็ขอให้คุณครูทุกคนเชื่อมั่นในเจตนาที่ดีของตัวเอง และเฝ้ารออย่างมีความหวังต่อไปนะคะ
แนะแนวฮับขอส่งพลังใจให้คุณครูทุกคน และอย่าลืมหาเวลาพักกันด้วยค่ะ ❤️
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses