ฟังไม่เป็น ระวังตกหลุม! รู้ทัน 7 หลุมพรางทำให้เราเป็นผู้ฟังที่ไม่ดี

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags:  ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 283 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

เคยรู้สึกว่า “การรับฟัง” ใครสักคนเป็นเรื่องยากไหมคะ ?

เวลานักเรียนหรือคนรอบข้างเข้ามาปรึกษา บางครั้งเราก็เป็นผู้ฟังที่ดีได้ แต่ก็คงมีหลายครั้งที่อาจจะรู้สึกว่าเรายังเป็นผู้ฟังที่ดีไม่พอ 😣

“ฟังไปด้วย แต่ก็อยากทำอย่างอื่นไปด้วย”

“ขี้เกียจฟังแล้ว อยากรีบแนะนำทางแก้ไข”

“ไม่มีสมาธิเลย ขอปล่อยใจลอยละกัน”

“เพราะการฟังต้องฟังด้วยใจ..ไม่ใช่แค่หู”

แนะแนวฮับอยากบอกว่า ไม่เป็นไรเลยค่ะ ถ้าวันนี้เราจะรู้สึกว่า “ฉันเป็นผู้ฟังที่ไม่ดี” เพราะทักษะการรับฟังเป็นสิ่งที่ต้องใช้ระยะเวลาและประสบการณ์ในการฝึกฝน ซึ่งนอกจากจะฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดีแล้ว ยังต้องระวังการเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีอีกด้วย

แนะแนวฮับชวนมาสำรวจ 7 หลุมพราง ที่เรามักเผลอตกลงไปในขณะที่รับฟัง จากหนังสือ “The Lost Art of Listening” ซึ่งไมเคิล พี นิโคลส์ (Michael P. Nichols) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์จิตวิทยา และผู้เขียนได้อธิบายทั้ง 7 หลุมพรางของการรับฟังไว้อย่างน่าสนใจ แนะแนวฮับเลยขอหยิบมาแบ่งปันคุณครูทุกท่าน เพราะเชื่อว่าเราจะเป็น ‘เครื่องเตือนใจ’ ที่คอยส่งสัญญาณให้เราเท่าทันตัวเองในขณะที่รับฟังผู้อื่นได้อย่างแน่นอน

ว่าแล้วก็ฮึบ! กระโดดข้ามหลุม ไปดูกันเลย!

ชื่อภาพ

1) หลุมพรางประสบการณ์เดิม

เวลาที่ใครสักคนกำลังเล่าเรื่องราวของตัวเองให้เราฟัง เรามักจะแทรกเขาด้วยการเล่าประสบการณ์ของตัวเองเข้าไปโดยที่รู้ตัว

ตัวอย่างสถานการณ์ : เวลาเพื่อนมาขอคำปรึกษาเราตอนที่อกหัก และเราเองก็เคยมีประสบการณ์อกหักมาก่อน เราจึงรีบเล่าแทรกเรื่องของเรา โดยการใช้คำพูดว่าประมาณว่า “นี่แก ดูอย่างฉันสิ ยังผ่านมาได้เลย ตอนนั้นที่ฉันเพิ่งอกหัก ฉันก็เป็นอย่างแกนี่ล่ะ บลา บลา บลา…” สถานการณ์นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เพราะมันเป็นแรงกระตุ้นตามธรรมชาติ ผ่านการเชื่อมโยงประสบการณ์ที่เรามีเหมือนกัน แต่หากเราไม่เท่าทันตัวเอง ก็จะส่งผลให้ผู้เล่ารู้สึกไม่ถูกรับฟัง ถูกแทรกแซง

วิธีรับมือ : เราต้องคอยยับยั้งตัวเอง หรือให้ผู้อื่นคอยยับยั้ง หากเราไม่เท่าทันตัวเอง

ชื่อภาพ

2) หลุมพรางการรีบแนะนำ

เวลามีใครสักคนเล่าเรื่องที่อึดอัดใจ หรือเรื่องที่ไม่มีความสุขให้เราฟัง สิ่งนี้ทำให้เราอยู่ในสภาวะของความรู้สึกอึดอัดเช่นกัน และเพื่อที่จะไม่ต้องทนกับความรู้สึกอึดอัดเหล่านั้น เราจึงอยากรีบแนะนำหรือบอกทางแก้ไขให้พวกเขาไวที่สุด แต่อาจไม่ใช่หนทางที่ดี

ตัวอย่างสถานการณ์ : เพื่อนมาปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งเป็นค่อนข้างเป็นเงินจำนวนมาก เรารู้สึกอึดอัดที่เห็นเพื่อนไม่สบายใจอยู่ตรงหน้า เราจึงมักจะใช้คำพูดประมาณว่า “แกลองไปศึกษาแหล่งเงินกู้ดูดี ไหม หรือแกลองหางานเสริมทำซิ จะได้มีรายได้เพิ่ม” การที่เรารีบแนะนำในขณะที่เพื่อนกำลังเล่า อาจทำให้เพื่อนรู้สึกอึดอัด เพราะแท้จริงแล้ว เพื่อนอาจจะมีหนทางออกในใจอยู่แล้ว แต่แค่ต้องการคนรับฟังปัญหาและพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างในเวลานี้เท่านั้น

วิธีรับมือ : ให้เราอยู่กับสภาวะอารมณ์นั้นด้วยความเชื่อว่า “ทุกคนมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาของตนเองหรือมีหนทางของตนเอง” เราจึงไม่ควรรีบชี้แนะทางออก และพยายามผ่านไปด้วยกัน

ชื่อภาพ

3) หลุมพรางความต้องการอยากให้ทุกอย่าง ‘โอเค’

การอยู่กับใครสักคนที่มีสภาวะโศกเศร้า หรือเสียใจ อาจทำให้เรารู้สึก “ยากที่จะรับมือ” เพราะเราไม่ต้องการที่จะเห็น หรือรับรู้ความโศกเศร้าเหล่านั้น ยิ่งถ้าหากเป็นคนที่เรารัก อาจจะทำได้ยากขึ้น

ตัวอย่างสถานการณ์ : เพื่อนสนิทของเราเพิ่งเลิกลากับคนรักที่คบกันมาเป็นสิบปี จึงมีอาการร้องไห้ฟูมฟายและยังทำใจไม่ได้ ทันทีที่เราเห็นอาการของเพื่อน เราอาจจะรู้สึกเสียใจ หรือโกรธแทนเพื่อน จนเรามักเผลอที่จะรีบพูดปลอบใจประมาณว่า “ช่างมันเถอะแก” “ปล่อยมันไปเถอะ” เดี๋ยวมันก็ดีขึ้นนะ” จริงๆ แล้วคำพูดเหล่านี้ไม่ใช่คำพูดปลอบใจที่ไม่ดี แต่อาจจะต้องใช้ในเวลาที่เหมาะสมด้วย

วิธีรับมือ : ให้เราใช้วิธีการตั้งคำถามกับเพื่อนให้มากขึ้น ถามรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เพื่อนเจอ และอยู่ร่วมกับความรู้สึกเหล่านั้น

ชื่อภาพ

4) หลุมพรางการตอบโต้ทางอารมณ์

หากเรื่องที่ผู้เล่า หรือมาปรึกษามีความเกี่ยวข้องกับตัวเรา เป็นเรื่องปกติมากที่เรามักจะหลุดตอบโต้และแสดงท่าทางว่าไม่อยากรับฟังอีกฝ่ายแล้ว

ตัวอย่างสถานการณ์ : การนัดปรับความเข้าใจกับเพื่อนหลังจากที่ทะเลาะกัน และเพื่อนอาจจะใช้คำพูดที่บอกว่า “ตัวเรา” มีส่วนที่ทำให้เขาเกิดความรู้สึกไม่พอใจ หรือมีการต่อว่าในพฤติกรรมบางอย่างของเรา

วิธีรับมือ : ให้เราเปิดกว้าง พยายามระงับอารมณ์ของตนเอง และรับฟังให้จบก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองออกไป

ชื่อภาพ

5) หลุมพรางความเบื่อ

เวลาที่มีใครมาปรึกษาเรื่องบางเรื่องแล้วเรารู้สึกเบื่อ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้สนใจในเรื่องที่เขาเล่าให้ฟัง หรือเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และเมื่อความรู้สึกเบื่อเกิดขึ้น อาจทำให้เราฟังได้ยากขึ้น เพราะสมาธิและจิตใจของเราไม่ได้โฟกัสที่ผู้เล่าอีกแล้ว

ตัวอย่างสถานการณ์ : เพื่อนมาปรึกษาเรื่องหัวหน้างาน พูดถึงเรื่องพฤติกรรมที่ไม่ดีของหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน

วิธีรับมือ : ให้เรารู้ทันความรู้สึกที่เกิดขึ้น และพยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในบทสนทนาผ่านการตั้งคำถามมากขึ้น

ชื่อภาพ

6) หลุมพรางการคิดฟุ้งซ่าน

เวลาเราที่เรากำลังรับฟังใคร แต่ใจกลับคิดถึงงานในอนาคต คิดถึงหนังที่เพิ่งดูจบเมื่อคืน หรือแม้แต่ไม่ได้คิดอะไรเลย เป็นอาการใจลอยมอบตามสิ่งที่เห็นไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้คืออาการคิดฟุ้งซ่าน สิ่งรบกวนทั้งภายในและภายนอกต่างเป็นอุปสรรคในการรับฟังทั้งสิ้น

ตัวอย่างสถานการณ์ : ในขณะที่นักเรียนกำลังเล่าปัญหาที่บ้านให้ฟัง แต่จิตใจของเรากำลังคิดถึงการประชุมที่จะเกิดขึ้นบ่ายนี้ หรือกำลังกังวลกับงานที่เพิ่มเข้ามา จึงทำให้เรามักแสดงอาการตาลอย หรือฟังแล้วจับใจความสำคัญไม่ได้

วิธีรับมือ : เราสามารถขจัดสิ่งรบกวนภายนอกก่อนที่จะรับฟังได้ เช่น การปิดทีวี ปิดเสียงโทรศัพท์ เพื่อให้การรับฟังมีประสิทธิภาพ แต่หากเป็นสิ่งรบกวนจากภายใน เช่น ความกังวลในเรื่องที่จะต้องทำในอนาคตหรือเรื่องงานที่ยังค้าง ขอให้เราพยายามสูดหายใจลึกๆ เพื่อพาตัวเองกลับมาสู่ปัจจุบันและมุ่งความสนใจกับคนตรงหน้า

ชื่อภาพ

7) หลุมพรางการรู้ทันความคิดคนอื่น

เมื่อคนสนิทหรือคนที่รู้จักเข้ามาปรึกษา เรามักจะคิดไปก่อนเสมอว่า “เรารู้ว่าเขาจะพูดอะไร” เราจึงมักขัดจังหวะการพูดของเขา หรือทำเป็นไม่ได้ยินสิ่งที่เขาพูด

ตัวอย่างสถานการณ์ : เรารู้ว่าเพื่อนสนิทของเราคนนี้เป็นคนที่ชอบเล่าลงรายละเอียดที่เยอะเกินไป และมักจะไม่ยอมรับในข้อผิดพลาดของตนเอง และทุกครั้งที่มาปรึกษามักจะพูดแต่เรื่องเดิมๆ เราจึงรู้สึกว่าเราไม่อยากที่จะรับฟังเขา และมักใช้คำพูดประมาณว่า “แกไม่ต้องพูดหรอก ฉันว่าแกจะต้องตัดสินใจแบบนี้ บลา บลา บลา…”

วิธีรับมือ : เราต้องพยายามเปิดกว้าง ลองเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อผู้เล่าใหม่ให้เหมือนกับว่าเราไม่ได้เป็นคนสนิทกัน หรือใช้วิธีการตั้งคำถามเพื่อแสดงถึงความต้องการในการรู้จักและเข้าใจเรื่องราวของเขามากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ได้แปลว่า ต้องรับฟังทุกเรื่อง ทุกเวลา ตลอดไป เมื่อไรที่เรารู้สึกว่า “ใจไม่ไหว” “ยังไม่พร้อมที่จะฟัง” เราก็สามารถสื่อสารออกไปตรงๆ ได้ว่า “เรายังไม่พร้อม” หรือขอ “หาช่วงเวลาที่เหมาะสมนัดพูดคุยกันใหม่” เพราะแท้จริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องฝืนรับฟัง ทั้งๆ ที่ใจตัวเองยังไม่พร้อม

ฟังแล้ว การฝึกเป็นผู้รับฟังที่ดีก็อาจไม่ใช่เรื่อง่ายเลย แต่แนะแนวฮับเชื่อว่าหากเราค่อยๆ ฝึกรู้เท่าทัน 7 หลุมพรางที่เกิดขึ้นกับตัวเองไปเรื่อยๆ เมื่อไรที่เผลอหล่นตุ๊บลงไปในหลุม! ก็ปีนขึ้นมาปากหลุมแล้วทำความเข้าใจ ชื่นชมสิ่งที่เราทำได้ดีและเดินหน้าพัฒนาสิ่งที่ยังทำได้ไม่ดีต่อไป สักวัน เราจะกลายเป็นผู้ฟังที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน

แนะแนวฮับหวังว่าบทความนี้จะเป็นกำลังใจและแนวทางในการฝึกสกิลรับฟังของคุณครูให้นำไปปรับใช้ได้ค่ะ 😀

อ้างอิง

  • Reasons You don’t listen https://shorturl.at/l6z0x

  • Nichols,P. Michael. ( 1994).The Lost Art of Listening: How Learning to Listen Can Improve Relationships.New York : The Guilford Presshttps://books.google.co.th/books?id=OzEIXFk0lNQC&printsec=frontcover&redir_esc=y#v=onepage&q&f=false


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา