6 เทคนิคช่วยนักเรียนปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 535 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

“เพื่อนใหม่จะเป็นยังไง?” “ครูคนใหม่จะใจดีกับเราหรือเปล่า?” “เปิดเทอมใหม่จะตื่นไหวไหมน้าา”

การเริ่มต้นใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อมเดิมที่เคยชิน ไม่ว่าจะเป็น การย้ายโรงเรียน การเลื่อนชั้น ย้ายห้องเรียน/สายการเรียน หรือการกลับมาเรียนใหม่หลังจากหยุดไปนาน อาจเป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักเรียนบางคน เพราะนอกจากต้องปรับตัวในด้านกายภาพ เช่น ต้องปรับเวลาตื่นใหม่ เรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่ใหม่ เลือกวิธีการเดินทางใหม่ นักเรียนยังต้องปรับตัวกับสภาวะด้านในของตัวเองอีกด้วย เช่น การสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ หรือคุณครูที่ปรึกษาคนใหม่ เป็นต้น

ในมุมของคุณครู ก็อยากจะยื่นมือไปช่วยเหลือนักเรียนใช่ไหมคะ แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนเปลี่ยนกระถางต้นไม้ซะนี่ 🪴ไม่ว่าจะเป็นครูที่ปรึกษาหรือครูแนะแนว จะมีวิธีการหรือเทคนิคอย่างไรเพื่อช่วยให้นักเรียนของเราปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียนใหม่ได้ดีขึ้น แนะแนวฮับมีคำตอบค่ะ 😀

ชื่อภาพ

1) เปิดพื้นที่แสดงความรู้สึก-ความคิดเห็น

เมื่อนักเรียนมาโรงเรียนวันแรก ได้พบเจอเพื่อนใหม่ ครูคนใหม่ เป็นธรรมดาที่อาจจะรู้สึกไม่มั่นใจ กังวลหรือประหม่า การเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้แสดงความรู้สึก หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวเอง จะช่วยสร้างความรู้สึก ‘คุ้นชิน’ กับบรรยากาศในห้องเรียน ลดความกังวล ความเขินอาย และช่วยเพิ่มความสบายใจ ความเป็นกันเอง ระหว่างนักเรียนกับเพื่อนร่วมห้องและคุณครู

ตัวอย่างการจัดกิจกรรม เช่น

  • ครูแจกโจทย์ให้นักเรียนเล่าความรู้สึกของตัวเองในเช้าวันนี้ หรืออาจเตรียมรูปภาพต่างๆ เช่น ท้องฟ้าหลายรูปแบบ เฉดสีหลายเฉดสี เพื่อให้นักเรียนมีเครื่องมือใช้เปรียบเทียบความรู้สึกของตัวเอง

  • ครูยืนทักทายนักเรียน รอต้อนรับนักเรียนเป็นรายบุคคลก่อนเข้าห้องเรียน โดยการจับมือ สวัสดี แปะมือกัน

  • ครูมีบอร์ดประจำห้องเรียน เพื่อเป็นพื้นที่ให้นักเรียนเล่าเกี่ยวกับตัวตน เช่น ชวนนักเรียนวาดภาพตัวเองลงบอร์ด เซ็นชื่อตัวเอง หรือประทับฝ่ามือของตัวเองด้วยสีน้ำ เป็นต้น

  • ครูเช็คชื่อนักเรียนด้วยการแจกโจทย์ เช่น เมนูโปรด การ์ตูนที่ชอบ คำคมประจำตัว และให้นักเรียนขานคำตอบของแต่ละคนแทนการตอบว่า มาค่ะ/ครับ

ชื่อภาพ

2) พูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์เดิมของนักเรียน

นักเรียนที่มาจากต่างโรงเรียน อาจคุ้นเคยกับประสบการณ์ของตัวเองขณะอยู่โรงเรียนเดิม เช่น วิชาเรียน ตารางเรียน รูปแบบการเรียน ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันกับโรงเรียนปัจจุบัน การพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์เดิมของนักเรียนจะช่วยทำให้เรารู้จักนักเรียนมากขึ้น มองเห็นความท้าทายที่นักเรียนต้องเผชิญไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะนำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน และทำให้นักเรียนรู้สึกว่าคุณครูใส่ใจกับเรื่องราวชีวิตของตัวเอง

ตัวอย่างการจัดกิจกรรม เช่น

  • ครูชวนพูดคุยเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันของนักเรียนขณะที่อยู่โรงเรียนเดิมว่าเป็นอย่างไร หากจะต้องปรับตัวตามตารางเรียนใหม่มีอะไรบ้างที่เป็นความท้าทาย

  • ครูชวนนักเรียน เล่าประสบการณ์ที่ชอบจากโรงเรียนเก่า และความคาดหวังที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

  • ครูชวนนักเรียนสำรวจตารางเรียนใหม่ไปพร้อมๆ กัน ให้นักเรียนเชื่อมโยงวิชาที่มีกับประสบการณ์เดิม หรือเล่าจุดเด่นของวิชาเรียนในโรงเรียนเพื่อดึงดูดความสนใจของนักเรียน

ชื่อภาพ

3) พาชมโรงเรียนและแนะนำบุคลากร

เมื่อนักเรียนย้ายโรงเรียน จะต้องใช้เวลาเพื่อทำความรู้จักกับสถานที่ใหม่ ผู้คนใหม่ๆ เช่น ทางไปห้องแนะแนว ร้านอร่อยในโรงเรียน ห้องคุณครูฝ่ายทะเบียน ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายเมื่อต้องสำรวจโลกใหม่เพียงลำพัง ดังนั้น การพาชมโรงเรียนและแนะนำบุคลากรในโรงเรียนใหม่ จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกค่อยๆ คุ้นเคย โดยไม่เคว้งคว้างตามลำพัง ทั้งยังทำให้นักเรียนรู้สึกถูกมองเห็น มีตัวตน และรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับ ทั้งยังช่วยให้นักเรียนรู้จักกับบุคคลที่เกี่ยวข้องและสามารถติดต่อได้ หากต้องการความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ

ตัวอย่างการจัดกิจกรรม เช่น

  • ครูแจกแผนที่ในโรงเรียนและเว้นว่างบางสถานที่ในโรงเรียนไว้ เพื่อให้นักเรียนลองวาดภาพและเติมชื่ออาคารเอง หรือแจกคำถามให้นักเรียนออกไปตามหาและพูดคุยกับบุคลากรประจำห้องต่างๆ เช่น งานอดิเรกของเจ้าหน้าที่ห้องพยาบาล เป็นต้น

ชื่อภาพ

4) จับคู่ หรือจับกลุ่มในช่วงแรก

การเดินเข้าห้องเรียนในวันแรก โดยที่ยังไม่รู้จักเพื่อนๆ ในห้อง หรือเคยทำกิจกรรมร่วมกันมาก่อน ก็อาจทำให้นักเรียนรู้สึกเหงา โดดเดี่ยวหรือแปลกแยกได้ ดังนั้น ในช่วงเดือนแรกของการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ให้คุณครูลองจับคู่ หรือจับกลุ่มนักเรียนให้นั่งหรือทำงานด้วยกัน เพื่อให้นักเรียนสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่ได้ แล้วจึงสลับกลุ่มไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้จักเพื่อนครบทุกคน

ตัวอย่างการจัดกิจกรรม เช่น

  • ครูให้นักเรียนสุ่มจับฉลากเลขที่ เพื่อทำงานคู่กันในรายวิชานั้นๆ

  • ครูใช้เกมกิจกรรมที่ต้องเล่นเป็นกลุ่ม เช่น เกมส่งต่อบอลแนะนำตัว

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

  • 5 กิจกรรมทำความรู้จักกันแบบสร้างสรรค์ ต้อนรับเปิดเทอมใหม่ https://guidancehubth.com/knowledge/183

ชื่อภาพ

5) จัดช่วงเวลาให้คำปรึกษาหลังเลิกเรียน

นักเรียนบางคนอาจต้องการเวลาในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ที่มากกว่านักเรียนคนอื่น ขอให้คุณครูอย่าเพิ่งท้อใจ ลองจัดช่วงเวลาสำหรับให้คำปรึกษาโดยเฉพาะกับเด็กกลุ่มที่มีพฤติกรรมไม่อยากมาโรงเรียน หรือค่อนข้างเก็บตัว การจัดช่วงเวลาในการพูดคุยส่วนตัวเพื่อถามความรู้สึกของนักเรียนและคอยสื่อสารให้กับผู้ปกครองทราบ จะช่วยให้ทราบความท้าทายที่นักเรียนกำลังเผชิญ ความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของนักเรียน ที่ทำให้ครูนำไปวางแผนช่วยนักเรียนปรับตัวได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างการจัดกิจกรรม เช่น

  • ครูทำตารางเวลาให้นักเรียนมาลงชื่อตามวันเวลาที่ตัวเองสะดวก โดยตั้งชื่อกระบวนการพูดคุยให้คำปรึกษาแบบน่ารักๆ สบายๆ เพื่อไม่ให้ดูจริงจังหรือเครียดเกินไป เช่น คลินิกดูแลใจ เป็นต้น และมีนัดติดตามหลังพูดคุยกันไปเป็นระยะๆ

ชื่อภาพ

6) สร้างกิจวัตรประจำวันให้เกิดขึ้นในห้องเรียน

การเป็นคนใหม่ในพื้นที่ใหม่ อาจทำให้นักเรียนรู้สึกแปลกแยก เพราะไม่มีกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งกับคนอื่นๆ การมีกิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวันที่ชัดเจนจะช่วยให้นักเรียนรู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นในการปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียนใหม่ อีกทั้งการมอบหมายบทบาทหน้าที่ให้นักเรียนรับผิดชอบ จะทำให้นักเรียนรู้หน้าที่ตนเอง ไม่เกิดความรู้สึกเคว้งคว้างในการมาโรงเรียน

ตัวอย่างกิจกรรม เช่น

  • ครูแบ่งกลุ่มนักเรียนให้ช่วยกันทำความสะอาดห้องเรียน

  • ครูแบ่งบทบาทให้นักเรียนแต่ละคนมีหน้าที่ในการช่วยเก็บงานส่งครู

6 เทคนิคนี้เป็นวิธีช่วยให้นักเรียนปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและแรงกาย แรงใจจากคุณครูและนักเรียนไปด้วยกัน สิ่งสำคัญ คือ คุณครูจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่นักเรียนรู้สึก ‘ปลอดภัย’ มากพอที่จะเป็นตัวเองและเปิดรับประสบการณ์ใหม่ในชีวิต รวมถึงมีการติดตามพฤติกรรมของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกอุ่นใจกับการเริ่มต้นใหม่โดยที่มั่นใจได้ว่าจะมีคุณครูคอยสนับสนุนอยู่เคียงข้างในทุกย่างก้าวของพวกเขา 🙂


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา