5 กิจกรรมทำความรู้จักกันแบบสร้างสรรค์ ต้อนรับเปิดเทอมใหม่

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  กิจกรรม ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 1177 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

เปิดเทอมใหม่ม่ม่ม่ม่ 👏😀

เวลาผ่านไปไวมากเลยค่ะ ช่วงเวลาที่ทั้งครูและนักเรียนจะได้พบหน้ากันเป็นครั้งแรกเวียนมาอีกแล้ว เชื่อว่าคุณครูน่าจะมีโอกาสได้เจอกรณีนักเรียนใหม่ ที่เพิ่งเข้ามา หรือเพิ่งได้เจอเพื่อนๆ และคุณครูเป็นครั้งแรก ทำให้เกิดภาวะยังไม่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมใหม่

ในบทบาทคุณครูที่ปรึกษาหรือคุณครูแนะแนว จะทำกิจกรรมอะไรสำหรับคาบแรกดีนะ? 🤔 แนะแนวฮับ เพื่อนที่รู้ใจคุณครู จึงขอแบ่งปันไอเดียกิจกรรมชวนทำความรู้จัก สำหรับการพบหน้ากันครั้งแรก เพื่อสร้างสีสันและความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในห้องเรียนค่ะ

เหมาะสำหรับ

✅นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น - มัธยมศึกษาตอนปลาย

✅มีจำนวนนักเรียนห้องละประมาณ 20 - 40 คน

✅การจัดกิจกรรมในห้องเรียนโล่งๆ หรือเล่นที่ยิมของโรงเรียน แต่ถ้าหากคุณครูไม่สามารถหาที่โล่งๆ ในการทำกิจกรรมได้ ขอให้คุณครูปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมได้เลยนะคะ เช่น เปลี่ยนจากส่งบอลเป็นวงกลม เป็นส่งบอลไปตามที่นั่ง เป็นต้น

พร้อมแล้ว เราไปดูกันเลยค่า! 😀

ชื่อภาพ

1.ส่งต่อบอล

กระตุ้นให้นักเรียนได้รู้จักกันในบรรยากาศสนุกสนาน ผ่านการใช้ลูกบอลและการกำหนดหัวข้อก่อนให้ส่งบอลต่อกันเป็นรอบๆ ข้อดีของการใช้ลูกบอลเป็นสื่อกลางในการเล่น คือ นักเรียนจะรู้สึกเหมือนเล่นเกมส่งบอลต่อกัน ไม่ได้ถูกบังคับว่าจะต้องลุกขึ้นพูดหน้าชั้นคนเดียว

อุปกรณ์

  • ลูกบอลที่มีน้ำหนักค่อนข้างเบา 1 ลูก

วิธีการเล่น

1) ครูเตรียมลูกบอล 1 ลูก และชี้แจงกติกาการเล่น แล้วให้นักเรียนมายืนเรียงกันเป็นวงกลมทั้งห้อง

2) ครูกำหนดหัวข้อในการทำความรู้จักกันแต่ละรอบ ซึ่งทุกคนจะได้ร่วมแบ่งปันคำตอบของตัวเองทุกรอบ

ยกตัวอย่างหัวข้อ

  • รอบที่ 1 : ชื่อเล่นของตัวเอง

  • รอบที่ 2 : วันเกิดของตัวเอง

  • รอบที่ 3 : วิชาที่ตนเองชอบ

  • รอบที่ 4 : ห้องเรียนที่อยากเห็น

  • รอบที่ 5 : ห้องเรียนที่ไม่อยากเห็น

3) สามารถให้นักเรียนเป็นคนร่วมเสนอและกำหนดหัวข้อในแต่ละรอบเองได้ ตามความเหมาะสม

ชื่อภาพ

2.เรียงลำดับให้เร็วที่สุด!

สร้างโจทย์ให้นักเรียนเกิดความรู้สึกร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียน ด้วยการแลกเปลี่ยนคำตอบของตนเองกับเพื่อนร่วมห้อง และช่วยกันเรียงลำดับคำตอบให้ถูกต้อง

อุปกรณ์

  • ไม่มี

วิธีการเล่น

1) ครูให้นักเรียนยืนเป็นวงกลมทั้งห้อง และเน้นย้ำข้อตกลงร่วมเรื่องการช่วยกันดูแลตัวเองและเพื่อน ระวังไม่ให้ล้มหรือเผลอวิ่งชนกัน รวมถึงทวนความพร้อมของทุกคน ให้มั่นใจว่าสามารถขยับตัว เดินไว หรือวิ่งได้

2) ครูกำหนดโจทย์ในแต่ละรอบ เพื่อให้นักเรียนช่วยกันแลกเปลี่ยนคำตอบของตัวเองและเรียงลำดับคำตอบให้ถูกต้อง ยกตัวอย่างโจทย์

  • ขอให้นักเรียน… เรียงลำดับวันเกิดของทุกคนในห้อง!

  • ขอให้นักเรียน… เรียงลำดับความสูงของทุกคนในห้อง!

  • ขอใหนักเรียน… เรียงลำดับจำนวนอุปกรณ์ที่อยู่ในกระเป๋า!

  • ขอให้นักเรียน… เรียงลำดับจำนวนพี่น้องที่มีในครอบครัว!

  • ขอให้นักเรียน… เรียงลำดับระยะทางจากบ้านมาโรงเรียน!

3) ครูกำหนดว่าจะเริ่มต้นการเรียงลำดับจากน้อย-มาก/ มาก-น้อย ให้อยู่ฝั่งไหน เช่น คนที่คิดว่าสูงที่สุดในห้อง ให้เริ่มยืนจากทางซ้ายมือของคุณครู เป็นต้น

4) ครูคอยดูเวลาการทำภารกิจแต่ละโจทย์ไว้ที่ประมาณ 3 นาที และคอยช่วยนับเวลาเป็นวินาที เพื่อกระตุ้นความตื่นตัว

5) ครูตรวจสอบความถูกต้อง โดยการให้นักเรียนพูดคำตอบของตนเองทีละคน หากถูกต้องหมด ครูอาจจะให้รางวัลโดยการใส่คะแนนพิเศษให้กับทั้งห้อง พร้อมขอบคุณสำหรับความพยายามมีส่วนร่วมของทุกคน

ชื่อภาพ

3.ชิ้นส่วนหัวใจ

ชวนนักเรียนทำความรู้จักกันผ่านการเขียนข้อความสั้นๆ หรือวาดภาพลงบนแผ่นกระดาษรูปหัวใจ แล้วให้นักเรียนแลกเปลี่ยนกัน

อุปกรณ์

  • กระดาษ A4

วิธีการเล่น

1) ครูเตรียมกระดาษที่ตัดเป็นรูปหัวใจ เพื่อแจกให้นักเรียนทุกคนๆ ละ 1 แผ่น (หากมีเวลา สามารถให้นักเรียนเป็นคนตัดกระดาษเองได้)

2) ครูให้นักเรียนแบ่งหัวใจออกเป็นห้องๆ ขึ้นอยู่กับจำนวนโจทย์ที่ครูอยากให้นักเรียนเขียน เช่น

  • ฉายาของนักเรียน หรือชื่อที่อยากให้เพื่อนเรียก

  • สัตว์เลี้ยงที่ชอบ

  • สถานที่เที่ยวที่อยากไป

  • กีฬาที่ชอบ

  • แนวเพลงที่ชอบฟัง

  • อาหารที่ชอบ

  • อวัยวะของตัวเองที่ชอบที่สุด

3) ครูให้เวลานักเรียนเติมลงข้อมูลลงในหัวใจของตนเอง พร้อมกับตกแต่งระบายสี

4) ครูให้นักเรียนจับคู่ แลกเปลี่ยนกัน (สามารถออกแบบให้แต่ละคู่มีเวลาแบ่งปันกันเรียบร้อย แล้วให้สลับไปจับคู่กับเพื่อนคนอื่น)

ชื่อภาพ

4.Self-Portraits ภาพเหมือนตนเอง

เปิดโอกาสให้นักเรียนได้วาดภาพตนเอง โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องความสวยงาม ความเหมือนหรือไม่เหมือน แต่ให้เน้นวาดจุดเด่นของตนเอง และการวาดภาพด้วยความสนุก เพื่อให้นักเรียนช่วยกันทายว่า ภาพนี้เป็นของใคร

อุปกรณ์

  • กระดาษ A4

  • สีไม้ หรือสีชอล์ก

วิธีการเล่น

1) ครูแจกกระดาษ A4 ให้นักเรียนทุกคนวาดภาพตัวเอง โดยจะต้องมีจุดเด่นของตัวเองอยู่ในภาพ เช่น รูปลักษณ์ภายนอกที่เราชอบ หรือลักษณะนิสัยที่เราชอบ และให้เวลาวาด 3 นาที

2) ครูให้นักเรียนเขียนชื่อเล่นตัวเองไว้ที่ด้านหลังภาพ

3) ครูนำภาพของนักเรียนทุกคนมาวางรวมกันหน้าห้อง โดยคว่ำหน้าที่มีภาพลง

4) ครูให้นักเรียนทุกคนเดินออกมาสุ่มหยิบภาพคน 1 แผ่น

5) ครูให้นักเรียนยืนเป็นวงกลมพร้อมทั้งหันภาพในมือเข้าหาวง เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพ

6) ครูให้นักเรียนทุกคนเดินไปหาเจ้าของภาพ พร้อมทั้งแนะนำชื่อและทำความรู้จักกัน

*หมายเหตุ :

  1. คุณครูอาจเตรียมภาพวาดของตนเองไว้ด้วย ในกรณีที่นักเรียนจับได้ภาพของตนเอง ขอให้คุณครูเข้าไปเป็นคู่แลกเปลี่ยนกับนักเรียนคนนั้นแทน

  2. หากนักเรียนจับได้ภาพของตัวเองมากกว่า 1 คน ขอให้คุณครูนำภาพมาวางกองรวมกัน แล้วสลับๆ ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้นักเรียนเริ่มสุ่มจับภาพจนกว่าทุกคนจะจับได้ภาพวาดของเพื่อน

ชื่อภาพ

5.Life Timeline เส้นเวลาชีวิต

ชวนนักเรียนแนะนำชีวิตตนเองผ่านเส้นเวลาชีวิต โดยการเลือกช่วงเวลาที่สำคัญๆ มาแลกเปลี่ยนกับเพื่อน

อุปกรณ์

  • กระดาษ A4

วิธีการเล่น

1) ครูแจกกระดาษ A4 ให้นักเรียนทุกคนๆ ละ 1 แผ่น

2) ครูให้นักเรียนออกแบบเส้นเวลาชีวิต (Life Timeline) ของตัวเอง โดยอาจเลือกจากแนวทางตัวอย่าง เช่น

  • ช่วงอนุบาล

  • ช่วงประถมต้น

  • ช่วงประถมปลาย

  • ช่วงมัธยมต้น

  • ช่วงมัธยมปลาย

3) ครูให้โจทย์ว่า “ขอให้นักเรียนเลือกเหตุการณ์ที่สำคัญในชีวิต อาจจะเป็นเรื่องที่นักเรียนประทับใจ หรือเรื่องที่เป็นบทเรียนที่สำคัญในชีวิต เขียนลงในเส้นเวลาของชีวิต พร้อมทั้งวาดภาพประกอบ” โดยให้เวลา 15 - 20 นาทีในการเขียนและตกแต่งผลงาน

4) ครูให้นักเรียนจับกลุ่ม 4 คน แลกเปลี่ยนกัน

ทั้ง 5 กิจกรรมนี้ เป็นตัวอย่างไอเดียที่จะช่วยให้คุณครูสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการเริ่มทำความรู้จักกันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แนะแนวฮับก็อยากจะขอให้คุณครูคอยสังเกตบรรยากาศของห้อง รวมถึงสีหน้า หรือความรู้สึกของนักเรียนแต่ละคนอย่างทั่วถึง เพราะถ้าหากมีนักเรียนคนใดคนหนึ่งที่รู้สึกไม่สะดวกใจ หรือไม่พร้อมที่จะทำกิจกรรม ก็ขอให้คุณครูไม่บังคับกดดันนักเรียนคนนั้น แต่ใช้วิธีการพูดคุยส่วนตัวเพื่อทำความเข้าใจนักเรียนมากขึ้น หรือหากไม่พร้อมจริงๆ ก็สามารถนั่งพักดูเพื่อนทำกิจกรรมไปก่อนได้

เหนือสิ่งอื่นใด ขอให้คุณครูตระหนักถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนตั้งแต่คาบเรียนแรกๆ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีความสุขกับการมาโรงเรียนมากขึ้นค่ะ 🙂 บทความแนะนำ: ชวนรู้จัก “พื้นที่ปลอดภัย” https://guidancehubth.com/knowledge/9

อ้างอิง 42 interesting activities for introducing yourself https://shorturl.at/bmGTW


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา