จากครูฝึกสอน ถึงรุ่นน้องเตรียมฝึกสอน (ถอดประสบการณ์ก่อน-หลังฝึกสอนวิชาแนะแนว)

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags:  ครูฝึกสอน

อ่านแล้ว: 672 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

ฝึกสอนครูแนะแนว มันจะเป็นยังไงน้าาาา 🤔 💭

แนะแนวฮับขอทักทายน้องๆ เตรียมฝึกสอนฯ ทุกคนค่ะ! พร้อมแล้วหรือยังคะที่จะเข้าสู่การฝึกสอน หรือฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู? แอดมินเดาว่าน่าจะรู้สึกตื่นเต้นกัน เพราะไม่รู้ว่าจะได้ไปฝึกสอนที่ไหน ระดับชั้นใด แล้วจะเจอนักเรียนแบบไหน แล้วจะ… โอ้! มีหลายอย่างให้ต้องคิดเลยใช่ไหมคะ 😅

วันนี้แนะแนวฮับจึงขอนำข้อมูลมาแบ่งปันทุกคน เนื่องจากเราได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณครูฝึกสอนแนะแนวในปีการศึกษาที่ผ่านมา ถึงมุมมอง สิ่งที่ได้เรียนรู้ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะสำหรับน้องๆ รุ่นใหม่ ที่อยากนำไปใช้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่รั้วโรงเรียนค่ะ

เราเปิดการสัมภาษณ์ด้วย 6 คำถาม 6 ประเด็น แต่จะมีเรื่องอะไรบ้าง ไปดูกันค่าาาา

ชื่อภาพ

แนะนำตัว

กาฟิวส์ (เกตน์นิภา)

วิทยาลัยการฝึกหัดครู คณะศิลปศาสตร์ สาขาจิตวิทยาการปรึกษาและการแนะแนว

เอิร์น (ธนัชชา)

วิทยาลัยการฝึกหัดครู คณะศิลปศาสตร์ สาขาจิตวิทยาการปรึกษาและการแนะแนว

ฟ้า (รักษิณา)

วิทยาลัยการฝึกหัดครู คณะศิลปศาสตร์ สาขาจิตวิทยาการปรึกษาและการแนะแนว

ชื่อภาพ

เรื่องสุดว้าวเมื่อได้ฝึกสอนจริง

หลายอย่างที่เคยคิด เคยรู้ เคยได้ยินมา อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงที่พบหน้างานก็ได้ เมื่อมีโอกาสได้เข้าฝึกสอนในโรงเรียนจริงๆ จึงได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจ เช่น

1.รู้จักครูแนะแนวตัวจริง - คุณครูแนะแนวทุกคนใจดีมาก มีความเห็นอกเห็นใจ ส่งผลให้ได้ทำงานด้วยความสบายใจ และประทับใจที่ทุกคนในหมวดห่วงใยกัน

  • คุณครูแนะแนวมีความมุ่งมั่นขยันตั้งใจทำงานมาก แม้เลิกเรียนแล้ว หรือช่วงเวลาหลัง 5 โมงเย็น ก็ยังไม่กลับบ้านกัน แต่ใช้เวลาเตรียมการสอน สะสางงานต่างๆ

  • ครูแนะแนวไม่ได้มีแค่หน้าที่สอนอย่างเดียว แต่ยังมีความรับผิดชอบอีกเยอะมากที่รออยู่ ไม่ว่าจะเป็นงานสอน งานโรงเรียน งานนอก งานเอกสารต่างๆ อย่างงานทุนการศึกษา และกิจกรรมอีกมากมาย

2.รู้จักธรรมชาติของนักเรียน

  • ความดื้อเป็นธรรมชาติของเด็ก แต่จะมาก-น้อย บางทีก็ขึ้นอยู่กับบุคคล พื้นฐานทางบ้าน สภาพแวดล้อมที่เขาเคยเติบโตมา ลักษณะของนักเรียนตามยุคสมัยนี้ (ที่หลายคนมองว่า มักมีความคิดและมีความเป็นตัวเองสูง) ฯลฯ

  • สภาพนักเรียนอาจไม่ได้เป็นแบบที่คิดไว้ บางระดับชั้นที่เคยคิดว่าดื้อ กลับให้ความร่วมมือดีมาก ในขณะที่บางระดับชั้นที่คิดว่าน่าจะสอนง่าย กลับมีความดื้อและควบคุมยากมากที่สุด ไม่ค่อยเชื่อฟังหรือให้ความร่วมมือในระหว่างการเรียนการสอนเท่าที่ควร

3.รู้ว่างานแนะแนวคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัย

  • การทักทาย พูดคุย สร้างสัมพันธภาพกับนักเรียนด้วยความเป็นกันเอง จะทำให้เขารู้สึกปลอดภัยที่จะพูดคุย กล้าเล่าเรื่องบางเรื่องให้เราฟัง มันทำให้การเรียนการสอนเป็นไปด้วยดี และส่งผลให้เด็กๆ กล้ามาปรึกษาและขอความช่วยเหลือกับงานแนะแนว

  • เมื่อเวลานักเรียนมีปัญหา แล้วนึกถึงห้องแนะแนว แปลว่าพวกเขาให้ความไว้วางใจในคุณครูแนะแนวมากๆ ซึ่งก็เป็นผลมาจากการเปิดรับโดยไม่ตัดสิน และพร้อมสแตนบายให้ความช่วยเหลือของคุณครู

ชื่อภาพ

ความรู้และทักษะที่นักศึกษาฝึกสอนควรศึกษาหรือฝึกเพิ่มเติม

คำว่า “On the job learning” หรือการเรียนรู้ไปพร้อมกับการปฏิบัติงานจริง อาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการฝึกสอน แต่หากได้เตรียมตัวเพิ่มอีกสักนิด เชื่อว่าจะทำให้ได้ประสบการณ์ที่ชัดเจน ลึกซึ้ง และเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้เรียนและนักศึกษาฝึกสอนเองด้วย เช่น

1.ทักษะด้านการสอน เนื่องจากนักศึกษาฝึกสอนบางคนอาจเชี่ยวชาญในรายวิชาของตัวเอง แต่ยังไม่ถนัดด้านการสอนมากนัก หรือ ม้จะเตรียมการสอนมาดีแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือ เตรียมแผนสำรอง ไว้เพื่อปรับใช้หน้างานให้เหมาะสมด้วย

2.ทักษะการจัดการชั้นเรียน ทั้งการพูดหน้าชั้นเรียน การอบรมพฤติกรรม การให้ความรู้ และการทำข้อตกลงร่วมกันกับนักเรียนแต่ละห้อง เพื่อให้การเรียนการสอนในชั้นเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนได้ประโยชน์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

3.ความรู้ด้านงานเอกสาร การเขียนหนังสือราชการ การเขียนบันทึกข้อความ ซึ่งเป็นหมวดความรู้ที่จำเป็นมากสำหรับการเป็นครูแนะแนว เพราะต้องใช้ติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนบ่อยๆ

4.ความรู้และข้อมูลด้านการศึกษาต่อ เช่น ข้อมูล TCAS ข้อมูลคณะสาขามหาวิทยาลัยต่างๆ สำหรับการแนะนำ ให้คำปรึกษา แนะแนวทางเรียนต่อให้กับนักเรียน

5.ทักษะการบริหารจัดการเวลา เพื่อจัดการงานหลักที่ได้รับผิดชอบ งานอื่นที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงโอกาสการร่วมงานหรือเรียนรู้งานตามกลุ่มบริหารงานต่างๆ เช่น งานฝ่ายบุคคล งานฝ่ายงบประมาณ งานฝ่ายวิชาการ งานฝ่ายบริหารทั่วไป

ชื่อภาพ

หัวข้อและหลักสูตรที่อยากเสนอให้มหาวิทยาลัยมีเพิ่ม

แม้ปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ มีการปรับเนื้อหาการเรียนการสอนให้ทันยุคสมัย แต่ก็ต้องยอมรับว่า สังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและเป็นไปอย่างรวดเร็ว สำหรับคณบดีและผู้ออกแบบหลักสูตรที่สนใจ อาจลองหยิบประเด็นเหล่านี้ไปพิจารณา เพื่อพัฒนาแผนการเรียนการสอนได้เลยค่ะ 🙂

1.การสอนผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงการฝึกทักษะการจัดการชั้นเรียน การทำแผนการสอน

2.การเชื่อมโยงความสนใจของผู้เรียน สู่เส้นทางการเรียนต่อและการประกอบอาชีพ ที่ชัดเจน ลึกซึ้งมากกว่าเดิม เพื่อให้นักศึกษาฝึกสอนสามารถให้คำแนะนำนักเรียนได้แม่นยำ และทันการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมากขึ้น

3.การทำเอกสารราชการและการทำบันทึกข้อความ สำหรับใช้ดูแลงานเอกสารต่างๆ ของหมวดแนะแนว

4.การใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น Microsoft Excel ซึ่งจำเป็นและเป็นประโยชน์มากสำหรับการเก็บข้อมูล การทำงานทุนการศึกษา การคิดคำนวณต่าง ๆ เป็นต้น

5.การใช้เครื่องมือทำสื่อออนไลน์ เช่น Canva พร้อมฝึกทักษะการออกแบบเบื้องต้น เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ในรูปแบบการนำเสนอที่ดึงดูด เข้าใจง่าย ให้นักเรียนได้ทราบข้อมูลได้ทันเวลา

ชื่อภาพ

ข้อแนะนำสำหรับรุ่นน้องที่กำลังจะฝึกสอนแนะแนว

ฝึกสอนไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ดังนั้นอย่าเพิ่งถอดใจกันนะคะ เรามาฟังคำแนะนำจากรุ่นพี่กันค่ะ!

1.บุคลิกภาพและการวางตัวสำคัญมาก การมีคุณลักษณะส่วนตัวที่ดูเป็นมิตร จะทำให้นักเรียนกล้าเข้าหา กล้าเข้ามาพูดคุย หรือมาปรึกษา เมื่อไม่สบายใจ สำหรับคนที่กังวลว่า ครูที่ใจดี จะสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้นักเรียนหรือเปล่า จริงๆ แล้วความเป็นครูกับความเป็นเด็กนักเรียนมันมีขอบเขตกั้นไว้อยู่ ด้วยบทบาทหน้าที่ การมีวุฒิภาวะ ดังนั้นไม่ต้องกลัวนักเรียนจะไม่มองว่าเราเป็นครู แต่ขอให้ใช้ความใจดีเป็นสะพานเชื่อมใจให้นักเรียนเปิดใจ กล้าสื่อสาร และให้ความร่วมมือกับเรามากขึ้น

2.การมีแผนการสอนที่ยืดหยุ่น แม้จะมุ่งเน้นประโยชน์ที่ผู้เรียนพึงได้เป็นที่ตั้ง แต่ความเป็นจริงที่อยากแนะนำ คือ ควรทำแผนการสอนให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ ณ หน้างาน และมีสัดส่วนเนื้อหาด้านต่างๆ ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นด้านการเข้าใจตนเอง แบบทดสอบหรือแบบประเมินต่างๆ รวมถึงออกแบบการเรียนการสอนให้สมดุล ให้พื้นที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ไม่กดดันจนเกินไป แต่ก็ไม่ปล่อยปละละเลยจนเกินไปเช่นกัน

3.เตรียมพร้อมก่อนเป็นเรื่องดี

  • เตรียมปรับความคาดหวัง เข้าใจธรรมชาติ สิ่งที่ตัวนักเรียนเป็น (บนพื้นฐานการมีข้อตกลงร่วมกัน) ระลึกอยู่เสมอว่า นักเรียน Gen นี้กับ Gen เรา มีความแตกต่างกันอยู่มาก เด็กๆ ในปัจจุบันจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความกล้าแสดงออก เปิดกว้าง แต่ในขณะเดียวกันก็เจอความท้าทายและแรงกดดันในรูปแบบที่ต่างจากยุคสมัยเมื่อเราเป็นเด็ก

  • เตรียมตัวเจอนักเรียน ทั้งสำหรับการไปสอนและเจอนักเรียนแบบรายบุคคลและนักเรียนจำนวนเยอะๆ ทั้งในและนอกคาบเรียน ในห้องเรียน ในโรงเรียน และอาจได้พบกันนอกโรงเรียนด้วย

  • เตรียมเปิดใจให้กว้าง เพราะนักเรียนแต่ละคนล้วนมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งลักษณะภายนอก ความคิดความเชื่อ พื้นเพครอบครัว ฯลฯ ถือเป็นความท้าทายของคนเป็นครู ว่าจะสนับสนุนให้พวกเขาได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกันอย่างไร

  • เตรียมเนื้อหาและกิจกรรม ให้มีความสอดคล้อง เหมาะสมกับนักเรียนที่เราต้องดูแลรับผิดชอบ

  • เตรียมหาความรู้ข้อมูลใหม่ๆ ทั้งด้านการเรียนและทักษะชีวิต ที่อัปเดตทันยุคสมัยและมีความหลากหลายมากพอ ให้สามารถตอบคำถามนักเรียนได้ ***คุณครูไม่จำเป็นต้องตอบได้ทุกเรื่องเสมอไป ขอเพียงใช้ความซื่อสัตย์ บอกอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องที่ไม่รู้ว่า “ครูไม่รู้” และใช้โอกาสนี้ชวนนักเรียนให้ร่วมค้นหาคำตอบไปพร้อมกับคุณครู

ชื่อภาพ

3 เรื่องเน้นๆ เรียนไปได้ใช้แน่

1.ทฤษฎีและหลักการทางจิตวิทยา ที่ได้ใช้สำหรับการสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกห้องเรียน การออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความพร้อมของผู้เรียน

2.ทักษะการฟังและให้คำปรึกษา ข้อสังเกตหนึ่งที่พบ คือ นักเรียนยุคสมัยนี้มีโอกาสเกิดความเครียดได้ง่าย และจำนวนนักเรียนที่มีปัญหาเรื่องการดูแลจัดการอารมณ์ก็เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ครูมีโอกาสได้รับฟัง ให้คำปรึกษา หรือช่วยบรรเทาความเครียดบ่อยๆ

3.แบบประเมินต่างๆ ที่ช่วยให้นักเรียนได้ทบทวนตัวเอง รู้จักสังเกตตัวเอง

ชื่อภาพ

จากรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง : สิ่งที่อยากบอกน้องๆ ก่อนมาเป็นครูฝึกสอนฯ

ชื่อภาพ

“สังคมมักเข้าใจผิดว่า ครูแนะแนวไม่เห็นต้องทำอะไร วิชาแนะแนวสอนง่าย ไม่ต้องสนใจมากเดี๋ยวครูก็ให้ผ่าน แถมครูให้เงินนักเรียนบ่อยๆ น่าจะรวยแน่เลย … ซึ่งไม่จริงเลย บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของครูแนะแนวสำคัญไม่แพ้ครูวิชาอื่น สิ่งที่ได้เห็น ได้สัมผัสจากประสบการณ์การฝึกสอนสำหรับเรา คือ ‘ครูแนะแนวคือผู้ให้ ไม่เกินจริง’ จริงๆ ค่ะ ” - เอิร์น (ธนัชชา)

ชื่อภาพ

“เป็นครูแนะแนวไม่ใช่งานสบายเลย สำหรับเราคือมีเรื่องที่น่าเตรียมตัวเยอะพอสมควร และต้องเตรียมรับมือกับนักเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายมากๆ ไม่เหมือนกับที่เคยคิดไว้ แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการฝึกสอน คือ หากทำให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยได้ เวลามีอะไรพวกเขาจะกล้าเล่าให้เราฟัง ซึ่งมันก็ทำให้การเรียนการสอนของเราเอ็นจอยมากๆ ค่ะ” - กาฟิวส์ (เกตน์นิภา)

ชื่อภาพ

“ครูแนะแนวต้องพร้อมสำหรับรับมือกับนักเรียนที่ต่างกันมากๆ และจำนวนมากด้วย ในขณะที่ต้องสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ทำงานกับข้อมูลหลายๆ อย่างกับนักเรียน เช่น เนื้อหาวิชา กิจกรรมงานแนะแนว ข้อมูลการเรียนต่อ รวมถึงงานเอกสารราชการ ที่ส่วนตัวมองว่าความรู้แบบรอบด้าน และความถูกต้องถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครูแนะแนวค่ะ” - ฟ้า (รักษิณา)

แนะแนวฮับเชื่อว่า ประสบการณ์ที่น้องๆ นักศึกษาได้รับจากการฝึนสอนในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์กับน้องๆ รุ่นใหม่ที่กำลังก้าวเข้าวงการ และจะเตรียมเติบโตเป็นคุณครูที่มีคุณภาพต่อไปนะคะ

ทางข้างหน้ายังอีกไกล และเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ขณะเดียวกันก็มีเรื่องราวสุดเซอร์ไพรส์ น่ายินดี ชวนใจฟู และเต็มไปด้วยบทเรียนที่น่าสนใจมากๆ ขอเพียงน้องๆ เปิดใจ พร้อมปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด เชื่อมั่นในสิ่งที่มหาวิทยาลัยส่งมอบองค์ความรู้เพื่อเป็นฐานที่สำคัญและเพียงพอจะนำมาปรับใช้ และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

สิ่งสำคัญที่ไม่อยากให้ลืม คือ การมีเป้าหมาย และทำงานบนพื้นฐานการเข้าใจธรรมชาติการเป็นผู้เรียน เมื่อเราสามารถออกแบบงานได้อย่างสมดุลและเหมาะสม การสอนแนะแนวจะเป็นอะไรที่สนุกมากๆ แถมยังเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมกับนักเรียนด้วย

ขอให้น้องๆ ทุกคนโชคดีนะคะ 🙂


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา