How-to ครูดูแลหัวใจตัวเอง ในวันที่ความรู้สึกภายในปั่นป่วน
หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู
Tags: ดูแลใจ
อ่านแล้ว: 618 ครั้ง
“พูดออกไปแล้ว จะผิดไหมนะ?”
“เป็นครูแล้วรู้สึกแบบนี้ได้เหรอ?”
“เราทำอะไรไม่ดีไปหรือเปล่า?”
คุณครูเคยเจอสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกปั่นป่วน หรือขัดแย้งกับตนเองอยู่ภายในไหมคะ ? จริงๆ แล้วความรู้สึกขัดแย้งกับตนเองเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ เพราะเราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้คนที่มีความคิด ความเชื่อ และบรรทัดฐานทางสังคมที่หลากหลาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจของเรา
เมื่อเกิดความรู้สึกขัดแย้ง เรามักจะมีอาการต่อไปนี้
- ไม่เชื่อมั่นในความคิดเห็นของตนเอง มองว่าความคิดเห็นของคนอื่นมีอิทธิพลมากกว่า
- ไม่แน่ใจในการตัดสินใจของตนเอง
- สงสัยในความสามารถและศักยภาพของตนเอง
- ไม่กล้าเปิดเผยหรือยอมรับความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง
- มักจะเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นเสมอ
บ่อยครั้งที่ความขัดแย้งปลอมตัวมาอยู่ในรูปของอารมณ์โกรธ กลัว สับสน หรือโดดเดี่ยว ซึ่งหากปล่อยไว้นานๆ ไม่หาวิธีแก้ไขและดูแลอย่างจริงจัง อาจจะทำให้เรากลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตอื่นๆ ได้
ดังนั้น ในฐานะคุณครู จะดูแลความรู้สึกของตัวเองอย่างไร ไม่ให้ความขัดแย้งดังกล่าว สร้างความเสียหายให้แก่หัวใจของตัวเองมากกว่าเดิม แนะแนวฮับมีวิธีมาฝากค่ะ 🙂
1) รับรู้ว่าความขัดแย้งได้เกิดขึ้นแล้ว
ตั้งหลักและกลับมารู้เท่าทันตัวเองว่า “ฉันกำลังรู้สึกอะไร”, “ฉันต้องการอะไร” และเมื่อคุณครูรับรู้ว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้น ก็ถือเป็นก้าวแรกในการค้นหาปัญหาที่แท้จริงค่ะ
2) ค้นหาต้นเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้ง
ทำความเข้าใจต้นเหตุของความขัดแย้ง ที่มักเกิดจากการตีความ การรับรู้ ประสบการณ์ และการเลี้ยงดูที่เราได้สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก (ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม) ถ้าเราเท่าทันและมีสติมากพอ เราจะพบว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วจึงค่อยๆ วิเคราะห์ แยกแยะความขัดแย้งออกเป็นประเด็นๆ เพื่อช่วยให้เราเห็นสาเหตุที่แท้จริงมากขึ้น
*หมายเหตุ: ขั้นตอนนี้อาจจะท้าทายที่สุด เพราะเป็นการยอมรับความรู้สึกยากๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ เช่น ความรู้สึกผิดต่อตนเองและผู้อื่น หรือความรู้สึกผิดหวังจากความคาดหวังของเรา เป็นต้น
3) ตั้งหลัก ปล่อยวางจิตใจและหาทางไปต่อ
เมื่อเข้าใจสภาวะอารมณ์ เข้าใจที่มาและเห็นความเชื่อมโยงกันแล้ว ให้คุณครูโอกาสตัวเองเพื่อปล่อยให้จิตใจได้รู้สึกปลอดภัยและโล่งสบาย เช่น
- ให้อภัยตนเองและปลดปล่อยความรู้สึกผิดออกไป
- เชื่อใจในการตัดสินใจของตนเองมากขึ้น
- ออกไปหาเพื่อนสนิท พูดคุยกับคนในครอบครัว นักจิตวิทยา หรือที่ปรึกษาที่สามารถช่วยสะท้อนให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง
- ฝึกสื่อสารความรู้สึกของตนเองออกไปตรงๆ หรือเขียนบันทึกความต้องการของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
ตัวอย่างสถานการณ์ที่จะทำให้คุณครูเห็นวิธีการนำไปปรับใช้มากยิ่งขึ้น 🤔💭 เมื่อคุณครูตั้งใจเตรียมสอนในห้องเรียนอย่างเต็มที่ แต่กลับพบว่านักเรียนไม่ตั้งใจเรียน นักเรียนบางคนหลับ บางคนคุยเล่นกัน คุณครูจึงแสดงอารมณ์โกรธออกไป โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ หลังจากคาบนั้น คุณครูกลับมารู้สึกผิดกับตัวเองว่า “ไม่น่าแสดงอารมณ์โกรธไปเลย”
หากเจอสถานการณ์เช่นนี้ ลองทำตามขั้นตอนนี้ดูนะคะ
1) ขอให้คุณครูรับรู้ความรู้สึกของตนเอง และระบุความต้องการของตนเอง เช่น ตนเองรู้สึกผิดที่แสดงอารมณ์โกรธออกไป เพราะจริงๆ แล้วคุณครูมีความตั้งใจดี และอยากให้นักเรียนได้ความรู้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นในคาบเรียนไม่ได้เป็นอย่างที่คิด คุณครูจึงแสดงความรู้สึกโกรธออกไป
2) ขอให้คุณครูค้นหาสาเหตุที่แท้จริง โดยการตั้งคำถามกับตัวเอง เช่น “เพราะอะไรนักเรียนถึงไม่ตั้งใจเรียน” ซึ่งเหตุผลอาจจะมีได้หลากหลาย เช่น
- เพราะเมื่อวานนักเรียนบางคนนอนดึก เลยทำให้มาหลับในคาบ
- เพราะตัวเราเองเตรียมการสอนมาไม่เหมาะกับคาบเรียนตอนบ่าย จึงทำให้นักเรียนไม่สนใจ เป็นต้น
3) ขอให้คุณครูปลดปล่อยความรู้สึกผิด และเลือกวิธีการที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ โดยการให้กำลังใจและบอกกับตัวเองว่า “ความรู้สึกโกรธที่เกิดขึ้น ฉันให้อภัยตัวเอง เพระว่าฉันอยากให้นักเรียนได้รับความรู้ แต่อาจจะมีบางอย่างที่ตัวฉันเองก็ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้คาบเรียนดีขึ้นกว่าเดิม”
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะเท่าทันความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในได้ตลอดเวลา แต่การพยายามฝึกฝนการรู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่พยายามขัดขืนความรู้สึกจนกดทับและกดดันตัวเองต่อไป จะช่วยให้คุณครูได้เรียนรู้บทเรียน ค้นพบคำตอบที่น่าสนใจ และมีสุขภาพใจที่แข็งแรงขึ้นในที่สุดค่ะ
แนะแนวฮับขอเป็นกำลังใจ และเป็นเพื่อนร่วมเดินทางในการพัฒนาตนเองจากภายในของคุณครูเสมอนะคะ 🙂💕
อ้างอิง How to manage inner conflict and find wellness https://www.utsouthwestern.edu/about-us/faculty-wellness/archives/thrive/inner-conflict.html
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses