7 ไอเดียกระตุ้นนักเรียนส่งงานมากขึ้น

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 810 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

พูดจนปากเปียกปากแฉะ ก็ยังไม่ส่งงานกัน ฮือออ 😩‍💨

ทุกสัปดาห์แรกของช่วงปิดเทอม มักเป็นสัปดาห์ของการตามงานนักเรียนที่ติด ร มส. กันใช่ไหมคะ แต่สำหรับนักเรียนบางกลุ่ม ต่อให้ตามแค่ไหนก็ยังไม่สามารถทำให้นักเรียนส่งงานและเอกสารสำคัญต่างๆ ตามกำหนด

วันนี้แนะแนวฮับจึงขอมาแจก 7 ไอเดีย เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนอยากส่งงานกันมากขึ้นค่ะ 🙂

ชื่อภาพ

1.เปิดอก จับเข่าคุยกัน

หลายๆ ครั้งที่นักเรียนไม่ส่งงาน อาจไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่เป็นเพราะพวกเขามีปัญหาบางอย่างที่บอกคุณครูไม่ได้ เช่น

  • ไม่มีเวลาทำงาน เพราะต้องช่วยแม่ขายของ
  • ไม่เข้าใจคำสั่งของงานชิ้นนั้นๆ แต่ไม่กล้าถาม
  • รู้สึกเขินอายที่ต้องบอกข้อมูลส่วนตัว จึงไม่อยากสมัครทุน

ขอให้คุณครูลองเริ่มจากการนัดนักเรียนที่ไม่ส่งงานมาพูดคุยกัน โดยคุณครูอาจจะแบ่งสถานการณ์ออกเป็น 3 กลุ่ม เช่น กลุ่มที่ไม่ได้ส่งเอกสารสำคัญ, กลุ่มที่ไม่ได้ส่งงานมากกว่า 5 ชิ้นขึ้นไป, กลุ่มที่ไม่ได้ส่งงานเลย เพื่อให้คุณครูสามารถหาวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม

ชื่อภาพ

2.ให้ทางเลือกนักเรียน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการส่งงาน

นักเรียนแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน บางคนถนัดวาดรูปมากกว่าเขียนอธิบาย บางคนถนัดอัดวิดีโอส่งมาแทนการพูดหน้าชั้นเรียน

ลองให้นักเรียนออกแบบงานและการส่งงานได้ตามที่ถนัด อาจจะช่วยให้นักเรียนเกิดความรู้สึกกระตือรือร้นในการส่งงานมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับโจทย์ที่นักเรียนแต่ละคนได้รับด้วย ว่ามีความเหมาะสม มีความท้าทายในระดับที่นักเรียนยังมีไฟอยากทำนะคะ

ชื่อภาพ

3.ให้นักเรียนกำหนดเกณฑ์ที่คาดหวังของตนเอง

นอกจากการให้นักเรียนเลือกออกแบบงานและวิธีการส่งงานของตนเองแล้ว การให้นักเรียนกำหนดเกณฑ์ ผ่าน/ ไม่ผ่านของตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เห็นการพัฒนาของตนเองได้ เช่น “ผ่าน” ของนักเรียน หมายถึง การทำสมุดสะสมข้อมูลอาชีพของตนเอง 10 อาชีพและมาเล่าให้คุณครูฟัง

ในกรณีที่คุณครูเห็นว่า เกณฑ์ที่นักเรียนสร้างนั้นง่ายเกินกว่าความสามารถที่แท้จริงของนักเรียน ขอให้คุณครูแลกเปลี่ยนเกณฑ์ความคาดหวังของคุณครูด้วยเช่นกัน เพื่อหาเกณฑ์ที่เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียนอย่างแท้จริง

ชื่อภาพ

4.ให้นักเรียนจับคู่บัดดี้ หรือจับกลุ่มไม่เกิน 3 คน

พลังกลุ่มจะช่วยทำให้นักเรียนมีแรงในการทำงานและส่งงานมากยิ่งขึ้น โดยคุณครูอาจจะจับกลุ่มนักเรียนได้ดังนี้

  • จับกลุ่มตามความสนใจของโจทย์งาน
  • จับกลุ่มตามเกณฑ์ที่คุณครูวางไว้ เช่น กลุ่มที่ไม่ส่งงานเกิน 5 ชิ้น, กลุ่มที่ไม่ส่งงานเลย, กลุ่มที่ยังไม่ส่งเอกสารสำคัญ เป็นต้น
  • จับกลุ่มตามอิสระ

*หมายเหตุ: เหตุผลที่ไม่ควรจับกลุ่มเกิน 3 คน เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มทุกคนมีส่วนร่วมในงานได้เต็มที่ และคุณครูก็สามารถตรวจสอบและติดตามชิ้นงานได้อย่างละเอียดครบถ้วน สิ่งสำคัญคือ คุณครูต้องให้นักเรียนกำหนดบทบาทหน้าที่ร่วมกัน เพื่อให้รู้สึกมีส่วนร่วมและพร้อมรับผิดชอบงานให้สำเร็จ

ชื่อภาพ

5.จัดช่วงเวลาสำหรับการติดตามงาน

ถ้าสั่งงานแบบปล่อยให้นักเรียนไปทำเองโดยไม่ได้ติดตามเลย อาจเกิดเหตุการณ์ไม่ส่งงานซ้ำอีก ดังนั้น ขอให้คุณครูลองจัดช่วงเวลาติดตามงาน (ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียน หรือจำนวนกลุ่ม โดยที่ให้เวลาคน/ กลุ่มละไม่เกิน 15 นาที) ตัวอย่างคำถามสำหรับการติดตาม เช่น

  • “ช่วยประเมินความก้าวหน้าในงานให้หน่อยว่า ระดับ 1 - 10 นักเรียนแต่ละคนให้คะแนนงานตอนนี้เท่าไหร่?”
  • “ในการทำงานร่วมกัน มีอะไรติดขัดหรือเป็นปัญหาบ้างไหม?”
  • “คิดว่างานเสร็จ พร้อมส่งให้ครูในวันที่เท่าไหร่?”
  • “มีอะไรที่อยากได้ความช่วยเหลือจากครูบ้างไหม?”
  • “มีอะไรบ้างที่อยากจะบอกเพื่อน/ ตัวเอง เพื่อให้การทำงานชิ้นนี้สำเร็จ?”

ชื่อภาพ

6.ให้ตัวอย่างที่ชัดเจน

นักเรียนหลายคนมีปัญหาเรื่องการส่งงาน เพราะไม่เข้าใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร เช่น งานพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งเป็นงานที่ซับซ้อน ต้องอาศัยการวางแผนและเตรียมข้อมูลล่วงหน้า

ดังนั้น การมีตัวอย่างชิ้นงานให้ศึกษาด้วย จะช่วยให้นักเรียนเริ่มต้นทำงานได้ง่ายขึ้น หากคุณครูนำชิ้นงานที่สมบูรณ์มาให้นักเรียนดู สามารถถามคำถามเพื่อชวนนักเรียนคิดต่อ เช่น

  • “นักเรียนชื่นชอบชิ้นงานนี้ตรงไหนบ้าง เพราะอะไร?”
  • “ถ้าเป็นนักเรียน คิดว่าจะเริ่มต้นทำอะไรก่อน- หลัง?”
  • “นักเรียนจะส่งร่างไอเดียงานชิ้นแรกให้คุณครูดูวันไหนดี ส่งแบบยังไม่ต้องสมบูรณ์ก็ได้”

ชื่อภาพ

7.ขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง

ผู้ปกครองหรือครูประจำชั้นอาจจะเป็นตัวช่วยและแรงกระตุ้นที่ดีของครูแนะแนว โดยเฉพาะเรื่องติดตามเอกสารสำคัญต่างๆ ให้ครบถ้วนค่ะ

ยกตัวอย่างเอกสารการสมัครทุน ที่คุณครูต้องคอยติดตามบ่อยๆ อาจเพราะ

  • นักเรียนไม่รู้จะขอข้อมูลจากผู้ปกครองยังไง
  • นักเรียนไม่กล้าบอกข้อมูลแก่คุณครู
  • ผู้ปกครองไม่อยู่รับทราบและเซ็นเอกสารให้ เป็นต้น

คุณครูอาจลองนัดนักเรียนมาพูดคุยถึงสาเหตุที่แท้จริง และทำงานร่วมกับครูประจำชั้นในการติดต่อกับผู้ปกครองในทุกช่องทาง เพื่อให้รับทราบถึงข้อติดขัดที่เกิดขึ้นและช่วยกันแก้ไขปัญหาต่อไป

หากเปรียบเหตุการณ์การไม่ส่งงานนี้ ด้วยทฤษฎีเขาน้ำแข็ง การไม่ส่งงานหรือเอกสารสำคัญต่างๆ ของนักเรียนอาจเป็นแค่ปัญหาที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ แต่ลึกลงไปใต้น้ำ เราอาจจะพบว่ามีหลากหลายสาเหตุที่ซ่อนอยู่ค่ะ

แนะแนวฮับจึงอยากชวนให้คุณครูลองนำ 7 ไอเดียนี้ไปปรับใช้กับนักเรียนแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม ถึงจะยังไม่ประสบความสำเร็จในครั้งแรก ก็ไม่เป็นไรนะคะ เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักเรียนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาค่ะ พวกเราขอเป็นกำลังใจให้คุณครูนะคะ 😀


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา