ในวันที่นักเรียนเพิ่งรู้ว่าไม่ชอบสายการเรียนที่เลือก ครูทำไงดี?
หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน
Tags: ไอเดียการสอน สายการเรียน
อ่านแล้ว: 810 ครั้ง
“ครูครับ ผมไม่ชอบสายที่เรียนอยู่นี่เลย 🥹🥲”
นี่อาจเป็นหนึ่งในเสียงโอดครวญที่มีให้ได้ยินทุกเทอมเลยค่ะ แม้นักเรียนจะเคยมั่นใจมากๆ ว่าสายนี้แหละใช่แน่! แต่เมื่อได้เริ่มเรียนจริง ก็อาจมีคนที่พบว่า โอ้ นี่ไม่ใช่เลย! แต่จะทำยังไงดีล่ะ ในเมื่อไม่สามารถย้อนเวลากลับไปตัดสินใจใหม่ได้??
วันนี้แนะแนวฮับเลยขอมาแชร์แนวทางสำหรับครูแนะแนว ครูที่ปรึกษา หรือคุณครูที่ทำหน้าที่ดูแลนักเรียน เพื่ออยู่เคียงข้างพวกเขาบนเส้นทางการออกแบบอนาคตที่เหมาะสมกับพวกเขากันค่ะ
1.รับฟังให้เข้าใจตรงกัน
คุณครูสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่พร้อมรับฟังเสียงบ่นและความอัดอั้นของนักเรียน ได้ค่ะ การได้ระบายความในใจออกมา จะมีส่วนช่วยให้พวกเขาได้ทบทวนตัวเองและชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น อาจมีนักเรียนบางคนที่พบว่าตัวเองเพียงแค่ไม่ชอบคุณครูประจำวิชานั้นๆ หรือพบว่าตนก็มีส่วนที่ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง จนไม่ชอบสายการเรียนนั้นๆ ไป ซึ่งจะทำให้เห็นแนวทางการแก้ไขและจัดการต่อได้เหมาะสม
วิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือ ลองชวนให้นักเรียนทบทวนและเปิดใจแบบไม่อคติเพื่อดูว่า สายการเรียนที่เราอยู่ (และไม่ชอบ!) นี้ มีวิชาอะไรบ้าง แล้วลองจัดวิชาทั้งหมดเป็นหมวดหมู่ง่ายๆ 2 หมวด คือ
1) วิชาที่ชวนปวดใจ
2) วิชาที่ชอบ สนใจ หรือเรียนพอไหว
2.สนับสนุนวิชาที่ใจบอกให้ไปต่อ
คุณครูสามารถสนับสนุนนักเรียนได้โดยการแนะนำแนวทางให้ทำสิ่งที่ชอบให้ได้ดี และลงเรียนเพิ่มค่ะ นอกจากการตั้งใจเรียนในคาบอย่างเต็มที่แล้ว นักเรียนยังสามารถสืบค้น หาความรู้และประสบการณ์เพิ่มได้ อาจเป็นการเรียนพิเศษ ไปค่าย จัดกลุ่มติวกับเพื่อนที่อินเรื่องเดียวกัน หรือแม้แต่เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านสื่อการเรียนรู้ออนไลน์และออฟไลน์ซึ่งมีเปิดให้สมัครมากมาย ซึ่งจะทำให้พวกเขามีฐานความรู้และความถนัดที่เข้มข้นและชัดเจนขึ้น พร้อมสำหรับต่อยอดทั้งในแง่การเรียนและโอกาสการทำงาน
ตัวอย่างแหล่งสืบค้นและเรียนรู้
-
รวม 11 แหล่งเรียนรู้ออนไลน์(ฟรี) จากสถาบันการศึกษาในไทย https://guidancehubth.com/knowledge/22
-
คลังข้อมูลอาชีพ https://a-chieve.org/content/career-content
3.เสริมแรงให้วิชาที่(อาจจะ)น่าเหนื่อยใจ
คุณครูสามารถสนับสนุนนักเรียนได้โดยการชวนให้พวกเขาเผชิญหน้ากับความจริงอย่างเข้าใจค่ะ การใช้เพียงความอดทนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ลองชวนนักเรียนฝึกตั้งเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ไม่หวั่นไหวหรือถอดใจเสียก่อน ชวนให้พวกเขารู้จักมองหาการสนับสนุนหรือความช่วยเหลือเล็กๆ ใกล้ตัว อย่างการพูดคุยระบายความกังวลกับเพื่อนสนิท หรือการปรึกษาคุณครู เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังสามารถสื่อสารกับนักเรียนได้ว่า สิ่งนี้ถือเป็นการฝึกทักษะการก้าวผ่านความท้าทายเมื่อต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ (โดยที่ยังรักษามาตรฐานการมีวินัยและความรับผิดชอบ) รวมถึงการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดเวลาแม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่ารัก ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นทั้งในโลกการเรียนและการทำงานเลยค่ะ
4.หาโอกาสสื่อสารและหารือกับผู้ปกครอง
คุณครูอาจชวนให้นักเรียนลองพูดคุยกับที่บ้าน เพื่อสื่อสาร อัปเดตสถานการณ์และสภาวะที่นักเรียนกำลังเผชิญ แต่เพราะแต่ละครอบครัวมีบริบทต่างกัน บางครอบครัวมีความคาดหวังด้านการเรียนของบุตรหลานสูงมาก ในขณะที่บางครอบครัวมีต้นทุนสนับสนุนค่าเล่าเรียนจำกัด หรือไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่เพียงพอ และเชื่อว่าหลายครอบครัวก็อาจยังไม่เข้าใจว่า ‘ทำไมถึงเรียนไม่ได้ ในเมื่อคนอื่นเขาก็เรียนกัน!’ จึงทำให้การคุยหัวข้อดังกล่าว อาจเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา
นอกจากการคุยภายในครอบครัวแล้ว ยังมีโอกาสอื่นๆ อีก เช่น ในวันประชุมผู้ปกครอง ช่วงเวลาการเยี่ยมบ้าน หรือวันเวลาที่ผู้ปกครองสะดวก ที่คุณครูสามารถชวนผู้ปกครองมาร่วมกัน
1) สื่อสาร ปรับจูนความคาดหวังให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น
2) หารือแนวทางและวางแผนการสนับสนุนนักเรียนด้วยความเข้าใจ
3) อาจต้องมีการเผื่อใจไว้ก่อน ว่าสภาพจิตใจของนักเรียนอาจส่งผลให้เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือได้ผลการเรียนที่ไม่ดีอย่างที่คาดหวัง และถึงแม้จะตั้งใจเรียนจนจบ (ในกรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนสายการเรียนได้) นักเรียนก็อาจไม่เลือกเรียนต่อในด้านนั้นๆ เพราะมีตัวเลือกอื่นที่เหมาะสมมากกว่า
ตัวอย่างที่อาจช่วยขยายพื้นที่ความเป็นไปได้ เช่น
-
นักเรียนค้นพบว่า ตนเองสนใจสายการเรียน A แต่ไม่สามารถเปลี่ยนสายได้ อาจลงเรียนเป็นวิชาเลือกเสรีหรือเข้าชมรมแทน
-
เจอกันครึ่งทางด้วยข้อตกลง อย่างการทำคะแนนสอบให้ถึงเกณฑ์ เพื่อแลกกับสิทธิ์การสมัครทุนไปค่ายที่นักเรียนสนใจ
-
บางครอบครัวที่คาดหวังอยากให้ลูกเป็นหมอ แต่ลูกชอบเรียนภาษา อาจสื่อสารให้เจอกันครึ่งทางได้ คือ การเข้าศึกษาต่อด้านแพทย์แผนจีน เป็นต้น
-
บางโรงเรียนอาจมีนโยบายให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สามารถเปลี่ยนสายการเรียนได้ในช่วงต้นของภาคเรียนที่ 1 หรือ 2 ***ทั้งนี้ จำเป็นต้องศึกษาเงื่อนไขและปรึกษากับฝ่ายวิชาการหรืองานทะเบียนวัดผล ให้ถูกต้องก่อนแจ้งนักเรียนค่ะ
อย่างไรก็ดี นี่อาจเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมากๆ สำหรับนักเรียนหลายๆ คน ดังนั้น คุณครูจำเป็นต้องมีกระบวนการพูดคุยอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อให้สถานการณ์ในบ้านของนักเรียนไม่กดทับหรือกดดันพวกเขาเพิ่มขึ้น ด้วยนะคะ
นักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสายวิชาการ สายกิจกรรม สายประกวด สายเงียบ สายอีกแล้ว ฯลฯ ก็มีสิทธิ์เจอภาวะยากๆ อย่างการไม่ชอบสายการเรียน ได้เหมือนกันค่ะ สิ่งสำคัญคือ การที่นักเรียนมีคุณครูแนะแนว ครูที่ปรึกษา หรือคุณครูที่พวกเขาวางใจ ที่อยู่เคียงข้าง พร้อมรับฟัง และช่วยสนับสนุนให้พวกเขาได้ตั้งหลักความคิด ดูแลจิตใจ รวมถึงช่วยชี้เป้าแหล่งสืบค้นข้อมูลที่น่าเชื่อถือสำหรับการ “ไปต่อ” ได้ แนะแนวฮับขอเป็นกำลังใจให้ทั้งคุณครูและน้องๆ นักเรียนทุกคนเลยนะคะ 🙂🙂
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses