พี่ ม.6 ต้องรู้ ก่อนจะกู้ กยศ.

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  ม.6 เรียนต่อ

อ่านแล้ว: 21465 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

“อยากเริ่มกู้ กยศ. ต้องทำยังไงเหรอครับครู? 😮😮”

มีนักเรียนขอกู้ทุกปี แต่เอาเข้าจริงคุณครูหลายท่านก็ยังไม่ค่อยมั่นใจว่า ควรตอบและอธิบายวิธีการที่ถูกต้องเพื่อเริ่มต้นกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของแต่ละสถาบันการศึกษาอย่างไรดี วันนี้แนะแนวฮับจึงขอมาแนะแนวทางในการสื่อสารกับนักเรียน เพื่อสร้างความเข้าใจก่อนเริ่มขอทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในระดับมหาวิทยาลัยกันค่ะ

ชื่อภาพ ชื่อภาพ

1. สร้างความเข้าใจก่อนการกู้

การสร้างความเข้าใจเรื่อง กยศ. ให้นักเรียนก่อน เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะนักเรียนจะได้เข้าใจวัตถุประสงค์หลักของการกู้เบื้องต้น รูปแบบการกู้ตามประเภทการกู้ที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติผู้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งจะประกอบด้วย 3 ข้อ ดังนี้

1.1. รายได้ครอบครัว : กยศ. จะแบ่งผู้กู้ยืม ออกเป็น 2 ลักษณะได้แก่

  • ผู้กู้ยืมลักษณะที่ 1 ผู้กู้ยืมมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 360,000 บาท/ปี สามารถกู้ยืมได้ทั้งค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพ ซึ่งหากมีรายได้เกิน 360,000 บาท/ปี ไม่สามารถกู้ยืมได้

  • ผู้กู้ยืมลักษณะที่ 2 ไม่กำหนดรายได้ครอบครัว แต่ต้องเป็นนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้นักเรียน/นักศึกษาสามารถศึกษาได้จากหลักสูตรที่ถูกรองรับตามแต่สถาบันการศึกษา

1.2 ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม : ในการกู้ยืมเพื่อการศึกษา สถาบันการศึกษาจะกำหนดผลการเรียนเพื่อประกอบการกู้ ในเทอมถัดไป ทั้งนี้ขั้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของแต่ละสถาบัน เช่น มีผลการเรียนเฉลี่ยรวม ไม่ต่ำกว่า 1.80 (พิจารณาเบื้องต้นจาก GPAX ของภาคการศึกษาที่ 2) หากผลการเรียนไม่เป็นไปตามข้อกำหนดคุณสมบัติการกู้จะตัดสิทธิ์กู้ยืม

1.3 ผลการเข้าร่วมกิจกรรมจิตสาธารณะ : กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา จะพิจารณาการเข้าร่วมกิจกรรมจิตสาธารณะในปีการศึกษาก่อนปีที่ยื่นกู้ จำนวน 36 ชั่วโมง โดยสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัย จัดทำระบบบันทึกกิจกรรมจิตอาสาหรือเอกสารแนบ เพื่อให้นักศึกษาบันทึกข้อมูลการเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมอัปโหลดแบบฟอร์มหรือเพื่อส่งมหาวิทยาลัยพิจารณา

สิ่งที่จะได้รับจากการกู้

  • ค่าเล่าเรียน เช่น ค่าหน่วยกิต ค่าธรรมเนียม ที่เรียกเก็บจากสถานศึกษา และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ผู้ที่กู้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา จะได้รับทุนการศึกษา และค่าครองชีพในแต่ละภาคเรียนแตกต่างกันออกไปตามแต่ละคณะ ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง

  • ค่าครองชีพ ปริญญาตรีจะได้รับค่าครองชีพเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือใช้จ่ายอื่นๆอยู่ที่ เดือนละ 3,000 บาทต่อเดือน

การชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา

นักศึกษาไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรีบชำระเงินคืนหรือโดนคิดดอกเบี้ยตอนเรียน เพราะผู้กู้สามารถจ่ายเงินคืนได้หลังเรียนจบ โดยมีระยะเวลาการชำระยาวถึงเวลา 15 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยจะคิดในอัตรา 1%/ปี โดยเริ่มชำระเงินคืนหลังจากสำเร็จการศึกษาไปแล้ว 2 ปี หากชำระคืนเสร็จสิ้นภายใน 2 ปีแรก ผู้กู้จะไม่เสียดอกเบี้ยใดๆ เนื่องจากอยู่ในระยะปลอดหนี้ 2 ปีแรก

ชื่อภาพ

2. เตรียมความพร้อม

ก่อนการเริ่มต้นการกู้ นักเรียนจำเป็นต้องได้รับ รหัสนักศึกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงจะสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการกู้ได้ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการกู้ กยศ. ตามหน่วยงานต้นสังกัดนั้นๆ ได้เพื่อเตรียมความพร้อมการกู้ ซึ่งแต่ละสถาบันจะมีการเรียกหน่วยงาน กอง สำนักหรือฝ่ายที่แตกต่างกันออกไป เช่น

  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กองกิจการนักศึกษา

  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ : หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กองพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กองพัฒนานิสิต

  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กองพัฒนานักศึกษา

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานบริหารกิจการนิสิต

นอกจากนี้ นักเรียนยังสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการกู้ด้วยการติดตามข้อมูล การรับสมัคร การกู้ และการดำเนินการตามปฏิทินสถาบันการศึกษาได้ตามเพจหรือกลุ่ม กยศ. ของมหาวิทยาลัยได้ โดยแนะแนวฮับได้รวบรวมเพจ และช่องทางการติดต่องาน กยศ. ของแต่ละมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาไว้ให้เรียบร้อยแล้ว คลิก https://guidancehubth.com/knowledge/14

ชื่อภาพ

3. สมัครและดำเนินการกู้ในระบบ DSL

เมื่อนักศึกษาทราบกำหนดการกู้ยืม และรายละเอียดที่ต้องเตรียมจากทางหน่วยงานที่ดูแลเรื่องกยศ. เรียบร้อยแล้ว ให้นักศึกษาดำเนินการสมัครและดำเนินการกู้ในระบบให้เป็นไปตามปฏิทินการสมัครของทางมหาวิทยาลัย ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดการเพิ่มเติมได้ที่ https://www.studentloan.or.th/th/system/files/files/news/manual%20for%20student_0.pdf

ชื่อภาพ

4. เอกสารที่มักใช้ประกอบการพิจารณากู้

เอกสารที่ใช้ประกอบการกู้จะมีความแตกต่างกันตามแต่บริบทของสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัย ดังนั้น ผู้กู้ต้องศึกษาหลักฐานตามระเบียบการกู้จากสถาบันต้นสังกัด ซึ่งแนะแนวฮับมีแนวทางการเตรียมเอกสารคร่าวๆ ดังนี้

  1. สำเนาบัตรประชาชนนักเรียน/ นักศึกษา

  2. สำเนาบัตรผู้ปกครองของนักเรียน/ นักศึกษา

  3. สำเนาทะเบียนบ้านของนักเรียน/ นักศึกษา

  4. สำเนาทะเบียนบ้านผู้ปกครองของนักเรียน/ นักศึกษา

  5. สำเนาวุฒิการศึกษา

  6. หนังสือรับรองเงินเดือนของผู้ปกครอง หรือ สลิปเงินเดือนของผู้ปกครอง

  7. หน้าบัญชีธนาคารกรุงไทย หรือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ที่เป็นบัญชีชื่อผู้กู้ยืม

  8. รูปถ่ายหน้าตรง

ทั้งนี้ อาจครอบคลุมไปถึงแบบฟอร์มของ กยศ.ที่นักศึกษาควรรู้จัก ได้แก่

  1. กยศ.101 แบบคำขอกู้ยืมเงิน

  2. กยศ.102 หนังสือรับรองรายได้ครอบครัวของผู้กู้ยืมเงิน(กยศ.) (ใช้กรณีผู้ปกครองมีรายได้ไม่แน่นอน)

  3. กยศ.103 หนังสือแสดงความคิดเห็นของอาจารย์แนะแนวหรืออาจารย์ที่ปรึกษา

เอกสารข้างต้น อาจถูกบังคับใช้หรือไม่ จะตามแต่ระเบียบและวิธีการดำเนินการของสถาบันการศึกษานั้นๆ นักเรียน/ นักศึกษา สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่เว็บไซต์ กยศ. https://www.studentloan.or.th/th/highlight/1547794523

ลิงก์นำเสนอพร้อมสอน “การเตรียมความพร้อม กู้ กยศ. ของพี่ ม.6” https://www.canva.com/design/DAF7VVgVxzk/WixZ1SFRIqx-jPHu3sRy3A/view

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.thethaiger.com

https://www.studentloan.or.th

https://www.portal.info.go.th


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา