นอกจากเข้าเวรแล้ว ครูแนะแนวต้องเข้าอะไรบ้าง? รู้จัก 13 เข้า ก่อนมาเป็นครูแนะแนวเต็มตัว

หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู

Tags:  ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 1462 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

ไม่ต้องเข้าเวรแล้ว!! แต่ … 🫣🫣

ช่วงที่ผ่านมา มีข่าวหลายโรงเรียนทยอยกันปรับนโยบายเรื่องการให้ครูเข้าเวร สื่อหลายสำนักพูดถึงภาระหน้าที่ของครูไทย จนเกิดหัวข้อแลกเปลี่ยนแที่น่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นคือ การเข้าปฏิบัติงานจริง โดยที่ยังไม่ทันรู้ข้อมูลบางอย่าง หรือ สถานการณ์หน้างานจริงไม่เหมือนกับที่เคยเรียนมา

วันนี้แนะแนวฮับจึงขอมาแชร์เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการเป็นครูแนะแนว เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณครูน้องใหม่ รวมถึงน้องๆ นักศึกษาที่มากดติดตามเพจของเราด้วยนะคะ

คุณครูแนะแนวที่ผ่านมาเห็น และคิดว่ามันใช่มาก! หรือยังมีความเข้าอื่นๆ อีก! สามารถคอมเมนต์แบ่งปันได้เลยนะคะ 😊😊

ชื่อภาพ

1.เข้ากลุ่มไลน์

แอดมินขอการันตีว่า ครูแนะแนวคือครูที่มีกลุ่มไลน์มากที่สุดในโรงเรียนค่ะ! เพราะงานแนะแนวเป็นงานที่ต้องพบปะ สื่อสาร รับข้อมูลมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นไลน์โรงเรียน ฝ่ายงานต่างๆ (ที่ก็มีมากมาย) แถมครูแนะแนวยังต้องพร้อมรับข่าวสารอัปเดตต่างๆ จากสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายนอกต่างๆ อีก ดังนั้น “เข้ากลุ่มไลน์” จึงอันดับแรกๆ สำหรับคนเป็นครูแนะแนวเลย เตรียมเม็มมือถือให้พร้อม และพกพาวเวอร์แบงค์ไว้ให้อุ่นใจด้วยนะคะ

ชื่อภาพ

2.เข้าแถว

มิชชั่นพอสสิเบิลที่มนุษย์วงการชุดกากีหนีไม่พ้น มีประโยชน์คือการเป็นช่วงเวลาที่ได้พบปะยามเช้า และรับข้อมูลข่าวสารจากทางโรงเรียน บางโรงเรียนโชคดีหน่อยที่สร้างพื้นที่การเข้าแถวที่สะดวกสบายให้ร่มเงา แต่สำหรับโรงเรียนไหนที่ไม่มี ทั้งครูทั้งนักเรียนก็ต้องงัดครีมกันแดดเข้าสู้แดดร้อนกันแบบฉ่ำวาวหน้าโกลว์ค่ะ

ชื่อภาพ

3.เข้าค่าย

การเข้าค่ายมีหลายรูปแบบ ทั้งเข้าค่ายลูกเสือ เข้าค่ายวิชาการ เข้าค่ายคุณธรรม ฯลฯ ส่วนตัวแอดมองว่าทุกๆ ค่ายล้วนมีเนื้อหาที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้เสมอ บางค่ายเต็มไปด้วยบรรยากาศความสนุก เปิดโอกาสให้ทั้งนักเรียนและครูได้ทดลองทำ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แต่หวังเล็กๆ ว่าผู้จัดค่ายจะมีการออกแบบและเปลี่ยนแปลงให้ทันตามยุคสมัย เพื่อให้การเข้าค่ายสัมฤทธิ์ผลตามที่ตั้งเป้าไว้ และทุกคนแฮปปี้กันนะคะ

ชื่อภาพ

4.เข้าประชุม

เล็งไว้แม่นๆ ว่า 1 สัปดาห์ต้องมี 1 - 2 ครั้งแน่! การเข้าประชุมถือเป็นงานหลักอย่างหนึ่งที่ครูแนะแนวและคุณครูทุกคนต้องเจอ เพราะงานในโรงเรียนมักมีเรื่องราวให้ต้องรับทราบและสื่อสารกันตลอด นอกจากจะเป็นครูที่เก่งสอนแล้ว ก็ต้องมีทักษะการเข้าร่วมประชุม ที่มีทักษะการฟัง เก่งจับใจความในที่ประชุม ควบคู่ไปพร้อมกับการจัดตารางเตรียมลุยงานอื่นๆ ด้วยนะคะ

ชื่อภาพ

5.เข้ามหาลัย

ต่อให้จบมากี่ปี ชีวิตคนเป็นครูแนะแนวก็ยังได้วนเวียนในรั้วมหาวิทยาลัยค่ะ ความเจ๋งของการเป็นครูแนะแนวอย่างหนึ่งที่หลายๆ คนไม่ทราบ คือ การได้กลับไปชาร์จพลัง ดื่มด่ำบรรยากาศย้อนนึกถึงช่วงวัยรุ่นอันแสนว้าวุ่นของเราได้บ่อยๆ เพราะครูแนะแนวมักมีกิจกรรมต่างๆ ที่พัวพันกับมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งการประสานงานเรื่องเอกสาร การขอความร่วมมือ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

ชื่อภาพ

6.เข้าธนาคาร

ครูแนะแนวไปธนาคารบ่อยมาก! โดยเฉพาะช่วงการทำงานทุนการศึกษา ไม่ว่าจะงานยุ่งแค่ไหน ครูแนะแนวก็ต้องปลีกตัวไปธนาคารให้ได้ เพราะบางธนาคารมีเวลาเปิด-ปิดที่จำกัด แต่เพื่อให้งานทุนการศึกษาเป็นไปด้วยความราบรื่น ครูแนะแนวเองเลยต้องบริหารจัดการเวลาตัวเองและงานมากมายที่มี เพื่อจัดการงานทุนการศึกษาให้เกิดผลประโยชน์ต่อนักเรียนให้มากที่สุดนั่นเองค่ะ

ชื่อภาพ

7.เข้าสัมมนา

ครูแนะแนวเป็นครูที่ได้เข้าอบรมและสัมมนาบ่อยมากๆ เพราะต้องอัปเดตข้อมูลข่าวสารและพัฒนาตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก สำหรับนำมาประกอบการแนะแนวให้เหมาะสมและทันสถานการณ์ การจะเป็นครูแนะแนวที่ดีได้ ต้องพร้อมเปิดใจรับความเปลี่ยนแปลงและพร้อมเรียนรู้อะไรใหม่ๆ กล้าพาตัวเองไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่อาจไม่คุ้นเคย หากกัดฟันก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซนได้ บอกเลยว่าชีวิตการเป็นครูแนะแนวจะไม่น่าเบื่ออย่างแน่นอนค่ะ

ชื่อภาพ

8.เข้าสัมภาษณ์

เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนจะพร้อมสำหรับการสอบสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเวทีหรือกิจกรรมใดๆ คนเป็นครูแนะแนวจึงต้องหมั่นหาความรู้ และจัดเตรียมโจทย์ พร้อมสถานการณ์ต่างๆ มาออกแบบเป็นกิจกรรมให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกฝนและเตรียมความพร้อมอย่างเข้มข้นเสมอ

ชื่อภาพ

9.เข้าสำรวจ

อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การลงพื้นที่” ที่ทำร่วมกับชุมชนต่างๆ เช่น การออกเยี่ยมเคสเพื่อประเมินสถานการณ์ การเข้าสำรวจพื้นที่จริง ที่ต้องใช้ทักษะที่หลากหลาย มีใจที่พร้อมลุยตลอดเวลา

การเข้าสำรวจไม่ใช่แค่เพียงการเดินทางไปยังพื้นที่นั้นๆ แต่รวมถึงการชวนนักเรียนกลับมาที่ตัวเอง สำรวจทบทวน และชวนตกผลึกตัวเองด้วย เช่น การพานักเรียนเข้าไปสำรวจภายในใจของตนเอง การใช้คำถามเพื่อการทบทวน การสอบถาม ฯลฯ ซึ่งถือเป็นทักษะที่ครูแนะแนวจำเป็นต้องใช้ในทุกๆ วัน ทั้งในเชิงกระบวนการให้คำปรึกษา ทักษะการตั้งคำถาม (Questioning and Tracking Skill) ที่จะเข้าไปสำรวจข้อมูลต่างๆ ผ่านการถาม เป็นต้น

ชื่อภาพ

10.เข้าสู่ระบบ

อาการ “จำรหัสผ่านไม่ได้” มักแวะเวียนมาหาครูแนะแนวบ่อยๆ เพราะครูแนะแนวมีระบบมากมายที่ต้องดูแล (ทั้ง กยศ. ปัจจัยพื้นฐาน วัดแววความถนัด พาน้องกลับบ้าน School Health Hero ระบบโควตาครูแนะแนวต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน) ตั้งหลักให้มั่น จำรหัสให้ได้ แล้วคลิกเข้าสู่ระบบไปด้วยกันนะคะ!

ชื่อภาพ

11.เข้าโรงพยาบาล

การมีเคสมากมายผ่านเข้ามา ทำให้ครูแนะแนวต้องได้ติดต่อกับหน่วยงานนอกโรงเรียนเสมอ ตามจริงไม่ใช่แค่เข้าโรงพยาบาล แต่รวมถึงสถานีตำรวจ ศาล สถานพินิจ ฯลฯ แม้ไม่เกิดเหตุฉุกเฉินอะไร แต่ครูแนะแนวก็อาจได้แวะเวียนเข้าไปสถานที่เหล่านี้เพื่อประสานงาน ขอความอนุเคราะห์ ขอความร่วมมือ สำหรับการสนับสนุน ดูแล และช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ชื่อภาพ

12.เข้าอีเมล

เพราะเทคโนโลยีพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ครูแนะแนวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคอยเข้าอีเมลเพื่อเช็กข้อมูลข่าวสาร และติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ออกแบบกระบวนการเรียนการสอน หรือแม้กระทั่งการเข้าอีเมลเพื่อช่วยนักเรียนแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การสมัครเรียนต่อ (ที่บางทีก็ไม่รู้ควรคลิกยังไง หาไฟล์ไม่เจอ ไม่รู้หมดเขตหรือยัง ฯลฯ) ก็ต้องครูแนะแนวนี่แหละค่ะ ที่พร้อมเป็นที่พึ่งให้นักเรียนได้เสมอ

ชื่อภาพ

13.เข้าใจ

หนึ่งคำที่ยิ่งใหญ่ ที่ทำให้งานแนะแนวมีคุณค่าและความสำคัญไม่แพ้วิชาอื่นๆ ในฐานะครูที่ต้องทำงานกับความรู้สึกทั้งของตนเองและนักเรียน โดยมีความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นเสมือนผู้ช่วยที่สำคัญ การเข้าใจถือเป็นทักษะความสามารถหนึ่งที่ครูแนะแนวจำเป็นต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เป็นทักษะองค์รวมที่แตกย่อยออกเป็นทักษะแขนงต่างๆ ได้อีกมากมาย เช่น ทักษะการฟัง การสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและเป็นมิตร การจับประเด็น การสื่อสารเชิงบวก ฯลฯ แต่หากคุณครูรู้สึกไม่มั่นใจ มองว่ายังเข้าไม่ถึงหัวใจของนักเรียน หรืออยากรื้อฟื้นทักษะที่มีให้เฉียบคมและอ่อนโยนยิ่งขึ้น ตอนนี้แนะแนวฮับเปิดคอร์สหลักสูตรการสร้างพื้นที่ปลอดภัย สำหรับคุณครู ให้ลงเรียนกันแบบฟรีๆ (เรียนจบ ทำควิซครบ มีเกียรติบัตร) คลิกลิงก์เพื่อเข้าเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses

อ่านมาจนครบ 13 เข้า แล้ว คุณครูมี “เข้า …” อะไรอีกบ้างคะ? อย่าลืมมาแบ่งปันความรู้เหล่านี้ เพื่อเป็นแนวทางให้คุณครูน้องใหม่ และน้องๆ นักศึกษา ได้รับรู้และเตรียมรับมือก่อนเข้าสู่วงการครูแนะแนวผู้แกร่งกล้ากันนะคะ 😎✨


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา