เข้าใจนักเรียนให้มากขึ้น ด้วยแนวคิดของขวัญ 3 กล่อง (Willing, Feeling, Thinking)
หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู
Tags: ดูแลใจ
อ่านแล้ว: 944 ครั้ง
ปัญหา “ความไม่เข้าใจกัน” ระหว่างคุณครูและนักเรียน ดูจะเป็นเรื่องชวนกุมขมับของคุณครูหลายท่านเลยค่ะ
ทั้งๆ ที่คุณครูก็พยายามเข้าหาเด็กๆ อย่างเต็มที่ ใจดีก็แล้ว หาเกมสนุกๆ มาให้เล่นก็แล้ว แต่ก็ยังมีหลายๆ จังหวะที่สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง 😭
จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคุณครูหลายๆ ท่าน แอดมินพบว่า เพื่อนครูแต่ละท่านมีวิธีการรับมือที่หลากหลายต่างกันไปเลยค่ะ เช่น
-
ตั้งคำถามชวนนักเรียนแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียน
-
เรียกนักเรียนมาพบเพื่อพูดคุยหลังคาบเรียน
-
จัดเวลาออกไปหาวิชาอัพเลเวลตัวเอง สมัครเรียนคอร์สด้านจิตวิทยาวัยรุ่น
-
หารือในกลุ่มเพื่อนครู เพื่อปรับกระบวนท่าใหม่ให้สามารถออกแบบแผนการสอนให้โดนใจนักเรียนให้มากที่สุด
ซึ่งไม่มีวิธีไหนผิด ถูก หรือดีกว่ากันเลยค่ะ เพราะเราเชื่อว่า การจะเลือกนำมาหยิบใช้นั้นจำเป็นอย่างมากที่คุณครูจะต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย (ซึ่งก็คือนักเรียนของเรา) ก่อน
วันนี้แอดมินจึงอยากหยิบแนวคิดเรื่องของขวัญ 3 กล่อง (Willing, Feeling, Thinking) ที่จะถูกเปิดในแต่ละช่วงวัย ที่คุณแจน - พิมสิริ เรืองจิรนันท์ นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้สนใจศาสตร์ด้านศิลปะและการเติบโตของมนุษย์ ได้นำมาแบ่งปันในกิจกรรม #เวทีชุมชนครู และ #ห้องพักครูแนะแนว โดยเนื้อหาดังกล่าวนี้ได้จากการที่คุณแจนมีโอกาสไปเข้าร่วมอบรมศิลปะด้านใน กับ ครูอุ้ย - อภิสิรี จรัลชวนะเพท, ครูมัย - ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก และ ครูมอส - อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี ค่ะ
หากคุณครูท่านใดได้ลองนำไปปรับใช้ทำงานกับนักเรียนแล้ว อย่าลืมนำผลกลับมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันด้วยนะคะ :)
พัฒนาการ 3 ช่วงวัยแรก กับแนวคิดกล่องของขวัญ 3 กล่อง
คุณรูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักปรัชญาชาวออสเตรีย ผู้ก่อตั้งการศึกษาวอลดอร์ฟ แบ่งพัฒนาการตลอดชีวิตมนุษย์ไว้ช่วงละ 7 ปี โดย 3 ช่วงวัยแรกจะครอบคลุมพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัย 21 ปี คือ ช่วงวัย 0 - 7 ปี, 8 - 14 ปี และ 15 - 21 ปี โดยแต่ละช่วงวัยจะมีลักษณะเด่นของพัฒนาการทางร่างกาย กิจกรรมภายใน ระดับการตระหนักรู้ขณะเรียน ที่แตกต่างกัน ประสบการณ์ที่เด็กๆ ได้รับความรู้สึกต่างๆ ในแต่ละช่วงวัยจะเป็นพื้นฐานของพัฒนาการของช่วงวัยที่สูงขึ้น
แนวคิดกล่องของขวัญ 3 กล่องนี้ เป็นแนวคิดโดยแม่อุ้ย - อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก และผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ หนึ่งในวิทยากรผู้ออกแบบกระบวนการการอบรมศิลปะด้านในร่วมกับครูมัย - ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก และ ครูมอส - อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี ที่ขยายภาพให้เข้าใจพัฒนาการของเด็ก ว่าเปรียบเหมือนการได้เปิดกล่องของขวัญทีละกล่อง เพื่อรับความพิเศษในแต่ละช่วงวัย โดยส่วนสำคัญที่จะทำให้ความพิเศษนั้นเกิดขึ้นได้ ก็คือผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเด็กๆ ซึ่งก็หมายถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูนั่นเองค่ะ
3 เรื่องสำคัญก่อนทำความเข้าใจนักเรียน
1.การมีพื้นที่ปลอดภัย
จะมีส่วนสำคัญที่อนุญาตให้คุณครูและนักเรียนได้เริ่มเปิดใจเข้าหากันและกัน ผ่านการรับฟังและพูดคุยกันด้วยหัวใจที่เปิดรับอย่างไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตัดสินผิด-ถูก ความกังวลว่าจะถูกเพื่อนแซวหรือโดนครูลงโทษ
2.การเชื่อในการเติบโตและพลังการเรียนรู้ของนักเรียน
ความเชื่อในที่นี้จะช่วยเปิดพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ และการมอบระยะเวลาให้นักเรียนได้มีโอกาสเป็นเจ้าของการเรียนรู้ กล้าคิด (ทั้งในระดับปะติดปะต่อเชื่อมโยง จนถึงการคิดวิเคราะห์หรือสังเคราะห์) กล้าลงมือทำ และเรียนรู้ไปพร้อมกับเพื่อนคนอื่นๆ หรือชุมชนรอบตัวของเขา และทำให้คุณครูมีใจเปิดกว้างให้กับทุกๆ ความเป็นไปได้ที่ทั้งนักเรียนและคุณครูจะได้เรียนรู้ร่วมกัน
3.การเท่าทันสภาวะอารมณ์ความรู้สึกและความคิดของคุณครูเอง
เพราะ #ครูก็เป็นคน ที่สามารถเหนื่อยได้ ท้อได้ ผิดหวังและผิดพลาดได้ เช่นกัน การเท่าทันความรู้สึกนึกคิดของคุณครู จะเป็นส่วนสำคัญให้คุณครูสามารถตั้งหลักตัวเองได้เมื่อต้องเผชิญกับหน้างานที่เต็มไปด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบ ความท้าทาย และเรื่องไม่คาดคิดที่เกิดขึ้น ให้สามารถซื่อสัตย์กับตัวเอง ในขณะที่ก็สามารถเปิดใจเข้าหา สื่อสาร และทำความเข้าใจนักเรียนได้อย่างเหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย
“ฉันมุ่งมั่นอยากทำให้ได้ (Willing)” ช่วงวัย 0 - 7 ปี
🟡ด้านร่างกาย: พัฒนาการของระบบย่อยอาหารและการเจริญเติบโตของแขนขาเพื่อสร้างรูปกาย
🎁ลักษณะเด่น: ช่วงแรกเกิดถึงวัยอนุบาลจะเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจตามธรรมชาติ (Willing) พร้อมลงมือทำสิ่งต่างๆ ตามสัญชาตญาณ เรียนรู้แบบลองผิดลองถูก แรงกระตุ้นที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือ การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำหรือการเลียนแบบทำตาม เช่น เด็กเล็กที่พร้อมคว้าทุกอย่างเพื่อพยุงตัวเองให้ลุกยืนได้ หรือเด็กวัยอนุบาลที่เห็นรองเท้าของพ่อแม่ เลยใส่ตามบ้าง
🧡คนรอบตัวและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต: ผู้ใหญ่ควรเปิดพื้นที่ให้เด็กสามารถใช้จินตนาการได้เต็มที่ภายใต้การดูแลที่ดีของผู้ใหญ่ที่เป็นตัวอย่างให้เขาได้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร ไม่กดดันหรือกระตุ้นให้เกิดความเครียด
🧩สำหรับคุณครูที่ดูแลนักเรียนในช่วงวัยนี้: เปิดโอกาสการเรียนรู้ให้กว้าง ยอมปล่อยให้เด็กพบความล้มเหลวบ้างตราบเท่าที่ไม่อันตรายจนเกินไป และอนุญาตให้เขาได้ลองปล่อยพลังความมุ่งมั่นลงมือทำสิ่งที่สนใจอีกครั้ง
“มีความรู้สึกและภาวะอารมณ์มากมายที่ฉันได้ค้นพบ (Feeling)” ช่วงวัย 8 - 14 ปี
🟡ด้านร่างกาย: พัฒนาการของระบบการหายใจและการเต้นของหัวใจเพื่อสร้างพื้นอารมณ์
🎁ลักษณะเด่น: ช่วงวัยประถมถึงมัธยมต้นจะเป็นระยะเวลาของการค้นพบความรู้สึกใหม่ๆ ในตัวเอง ในตัวเพื่อนและผู้คนรอบตัว อาศัยการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกลับมาที่ความรู้สึกตัวเองว่า ชอบ ไม่ชอบ อยาก ไม่อยาก กลัว ไว้วางใจ ฯลฯ
🧡คนรอบตัวและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต: เด็กๆ ในวัยนี้จะให้พื้นที่กับสิ่งที่ตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ มองหาฮีโร่หรือไอดอลในดวงใจที่เขาชอบ อยากทำตาม อยากเป็นตาม เช่น มองคุณครูเป็นไอดอล เพราะคุณครูใจดี แต่งตัวสะอาดสะอ้านเรียบร้อย จึงอยากโตไปประกอบอาชีพเป็นคุณครู
🧩สำหรับคุณครูที่ดูแลนักเรียนในช่วงวัยนี้: ชวนทำกิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้อิสระนักเรียนในการถ่ายทอดจินตนาการและความรู้สึกของตัวเอง เช่น ผ่านสื่อกลางอย่างงานศิลปะ แล้วใช้คำถามชวนคิดชวนคุยต่อ รวมถึงให้เวลานักเรียนได้ทบทวนตัวเองเพื่อเท่าทันและเข้าใจความรู้สึกหรือสภาวะอารมณ์ที่หลากหลายของตัวเอง
“ฉันมีความคิดความอ่านของตัวเองเหมือนกัน (Thinking)” ช่วงวัย 15 - 21 ปี
🟡ด้านร่างกาย: จะมีพัฒนาการเด่นทางด้านระบบประสาทในการสร้างการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล
🎁ลักษณะเด่น: ช่วงวัยมัธยมปลายถึงระดับอุดมศึกษาจะพร้อมเชื่อมโยงสิ่งที่ดูมีความเกี่ยวข้องกันทั้งข้อมูล ประสบการณ์ และผู้คนรอบตัว แล้วตกผลึกเป็นตรรกะ ชุดความคิดความเชื่อของตัวเอง
🧡คนรอบตัวและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต: ผู้ใหญ่สามารถเป็นแบบอย่างและเข้าหาเด็กวัยนี้ด้วยรูปแบบของเพื่อนที่มีความเท่ากัน เน้นการสื่อสาร 2 ทาง ที่รับฟังพูดคุยแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผล และพยายามทำความเข้าใจที่มาที่ไปของความคิดของนักเรียน
🧩สำหรับคุณครูที่ดูแลนักเรียนในช่วงวัยนี้: สื่อสารกันด้วยข้อมูล มีเหตุผลที่หนักแน่น พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน ช่วยเชื่อมโยงให้นักเรียนเห็นและเข้าใจภาพความเป็นจริง และคิดให้รอบด้านมากขึ้น อาจมอบโจทย์ท้าทายศักยภาพด้วยการเชิญชวนให้นักเรียนลองสื่อสารความคิดให้เพื่อนคนอื่นๆ รับรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses