ไอเดียสอนแนะแนวด้วยงบศูนย์บาท

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 1478 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

สำหรับเพื่อนครูที่เจอความท้าทายด้านการตั้งเบิกงบและจัดหาอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน

ไม่ใช่แค่งบประมาณที่มีจำกัด เพราะบางครั้งแหล่งผลิตก็อยู่ต่างประเทศหรือขนส่งลำบาก กว่าของจะมา เด็กๆ ก็เรียนจบพอดี (ฮือ…)

วันนี้แอดมินเลยรวบรวมไอเดียการสอนวิชาแนะแนวหรือคาบโฮมรูม ที่คุณครูสามารถใช้ทรัพยากรที่มีมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนได้

โดยมุ่งเป้าหมายหลัก 4 ด้าน คือ

  1. นักเรียนได้รู้จักและเข้าใจตัวเอง
  2. นักเรียนได้รู้จักและเข้าใจเพื่อนและชุมชนรอบตัว
  3. นักเรียนรู้จักและเข้าใจในสายการเรียนและอาชีพต่างๆ
  4. นักเรียนมีแนวทางในการวางแผนศึกษาต่อ

4 ข้อชวนคุณครูตั้งหลักก่อนลุยสอน

4 ข้อชวนคุณครูตั้งหลักก่อนลุยสอน

1. ตั้งเป้าการเรียนรู้

การตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจนจะช่วยให้งานของคุณครูเบาลงได้เยอะเลยค่ะ เราอยากเสนอให้คุณครูลองระบุเป้าหมายให้ชัดเจน โดยอิงจากตัวนักเรียนเป็นหลักตั้งต้นว่า อยากให้นักเรียนได้เข้าใจเรื่องอะไรหรือทำอะไรได้ เพราะเหตุผลอะไร (ที่เชื่อมโยงกับชีวิตของนักเรียน และจะเป็นประโยชน์กับตัวนักเรียนเอง) เป้าหมายนั้นควรกระชับ เข้าใจง่าย จดจำได้ และวัดผลได้ เพื่อให้ระหว่างการทำแผนการสอนและเข้าสอนจริง คุณครูจะได้มีเกณฑ์ในการสังเกตหรือวัดผลการเรียนรู้ที่ชัดเจนค่ะ

2. ทำความเข้าใจนักเรียนและคุณครู

การทำความเข้าใจและประเมินสถานการณ์หรือความพร้อมของนักเรียน อาจทำได้หลายวิธี เช่น

  • การทบทวนข้อมูลเดิมที่คุณครูมี เช่น นักเรียนในห้องเป็นใครบ้าง มีลักษณะนิสัยและรูปแบบการเรียนรู้อย่างไร มีความสนใจเรื่องอะไร
  • การสอบถามจากเพื่อนครูรายวิชาอื่น หรือครูที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดกับนักเรียน
  • สอบถามนักเรียนโดยตรง อาจทำได้ทั้งการถามต่อหน้า การจัดกล่องรับฟังความคิดเห็นหรือสิ่งที่นักเรียนสนใจ การทำแบบสำรวจออนไลน์ ดูว่านักเรียนมีความกังวล ความเครียด ความท้าทายในชีวิต หรือมุมมองในการใช้ชีวิตด้านต่างๆ อย่างไร

อีก 1 คนสำคัญที่เราอยากให้ทำความเข้าใจด้วย คือ ตัวคุณครูเอง เพราะบางครั้งเราอาจพบเจอไอเดียหรือแผนการสอนที่น่าสนใจมากๆ และน่าจะเหมาะกับนักเรียนมาก แต่มันอาจไม่ตรงกับบุคลิกลักษณะความเป็นตัวเองของคุณครูเลย การเท่าทันความพร้อมของตัวเองจึงจะเป็นตัวช่วยให้คุณครูสามารถประเมินกำลัง และออกแบบแผนการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับคุณครู ให้ออกมาในรูปแบบที่นักเรียนได้ และคุณครูก็ทำอย่างมั่นใจด้วยค่ะ ^^

3. สำรวจทรัพยากรที่มี

ทรัพยากรในที่นี่ สามารถเป็นอะไรก็ได้ที่คุณครูหรือนักเรียนมี อาจจะมีในห้องเรียน ในโรงเรียน หรือมีที่บ้านอยู่แล้วก็ได้ ทรัพยากรพื้นฐานที่คุณครูน่าจะมี เช่น

  • ระยะเวลาที่มีในคาบเรียนหรือคาบโฮมรูม (กะไว้ที่ 20 - 40 นาที เผื่อเวลานักเรียนเข้าสายหรือต้องรีบไปเรียนคาบต่อไป)
  • เฟอร์นิเจอร์ในห้องเรียนหรือสิ่งที่คุณครูมี เช่น โต๊ะเรียน ตู้หนังสือ ไมโครโฟน ลำโพง
  • คอมพิวเตอร์และโปรแกรมตัวช่วยที่จะใช้เป็นพื้นที่กลางในการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น Miro, Mentimeter
  • ของที่นักเรียนมักมีติดตัว เช่น กระเป๋านักเรียน สมุด ปากกา รองเท้า
  • เครือข่าย Connection ของคุณครูและนักเรียน เช่น เพื่อนครู คุณป้าที่ขายขนมในโรงเรียน ผู้ปกครองของนักเรียน หลวงพี่ที่วัดใกล้โรงเรียน

4. สร้างสรรค์ไอเดียไม่จำกัด

ทุกอย่างเป็นไปได้! เมื่อมีเป้าหมายชัดแล้ว เราอยากเชิญชวนให้คุณครูมองเห็นความเป็นไปได้ในทุกๆ อย่างที่คุณครูและนักเรียนมีอยู่รอบตัวเลยค่ะ สิ่งนี้จะเป็นกุญแจเปิดสู่พื้นที่ของความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจอีกมากมาย คุณครูอาจลองสืบค้นเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต หารือกับเพื่อนครู หรือแม้แต่ชวนนักเรียนตั้งวงระดมไอเดียร่วมกันก็น่าสนใจทีเดียวค่ะ

วันนี้แอดมินมีตัวอย่างไอเดียกิจกรรมมาฝาก เผื่อคุณครูท่านใดสนใจ ลองนำไปใช้แล้วอย่าลืมกลับมาบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์กันนะคะ ^^

แม่นหรือไม่ เห็นแบบนี้ให้กี่เปอร์เซ็นต์

สิ่งนี้ไม่ใช่โบร์ชัวร์แนะนำที่เรียนต่อ แต่เป็น … “เครื่องมือชวนรู้จักตัวเอง” !

กิจกรรม: แม่นหรือไม่ เห็นแบบนี้ให้กี่เปอร์เซ็นต์!?**

การทำนายดวงเป็นหนึ่งในเรื่องที่มักได้ความสนใจจากนักเรียน ด้วยเป็นวัยแห่งการอยากรู้อยากเห็น และกำลังค้นหาตัวเอง แนวทางในการรู้จักตัวองมากมากมาย อาจอาศัยการพบเจอสิ่งต่างๆ รอบตัว แล้วกลับมาทบทวนตัวเองว่าสิ่งๆ นั้นหรือเรื่องราวนั้นๆ ว่าตรงกับความฝัน ความสนใจ ความสามารถที่มี หรือบริบทต่างๆ ในชีวิตเรามากน้อยแค่ไหน หรืออาจเป็นการรับฟังมุมมองจากเพื่อนหรือคนรอบข้าง เพื่อนำมาประกอบข้อมูลให้รู้จักตัวเองมากขึ้นก็ได้

เป้าหมาย

นักเรียนได้รู้จักและเข้าใจตัวเอง สามารถเชื่อมโยงกับโจทย์ที่ได้รับได้

อุปกรณ์

  • โบร์ชัวร์แผ่นพับแนะนำมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ (ยิ่งเยอะยิ่งดี แต่ถ้าไม่ครบจำนวนนักเรียนก็ไม่เป็นไรค่ะ)
  • กล่องกระดาษหรือลังเปล่า สำหรับใส่โบร์ชัวร์ สำหรับจับฉลาก

กระบวนการ

  1. คุณครูชี้แจงเป้าหมาย ว่ากิจกรรมนี้ไม่ใช่การดูดวง แต่เป็นการเปรียบเทียบความเป็นไปได้โดยผู้กำหนดชะตาชีวิตคือตัวนักเรียนเอง และชวนนักเรียนกลับมาอยู่กับตัวเองซักครู่ ทบทวนว่าในวันนี้เรามีความสนใจหรือที่เรียนในดวงใจที่ไหนบ้าง เพราะอะไร (ใช้เวลาทบทวนตัวเองประมาณ 1 - 2 นาที)
  2. ให้นักเรียนหลับตาหยิบคนละ 1 แผ่น
  3. ให้เวลาทบทวนตัวเอง ผ่านโจทย์แต่ละข้อ ดังนี้
    • ความรู้สึกแรกตอนเห็นว่าหยิบได้ที่ไหน
    • ที่นี่ (สถาบันการศึกษาที่ฉันหยิบได้) ตรงกับตัวฉันแค่ไหน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น ถ้า 100% หมายถึง ตรงสุดๆ!
    • ตัวอย่างแนวทางสำหรับชวนคิด เช่น เป็นที่ที่อยากไปเรียนต่อ, ตรงกับความสนใจ, ฉันมีทักษะความสามารถตรงกับหลักสูตรของที่นี่, เป็นที่ที่พ่อแม่หรือครอบครัวอยากให้ฉันไปเรียน, สีประจำสถาบันตรงกับความชอบส่วนตัว, ที่ตั้งของสถาบันอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่ต้องเดินทางไกล ฯลฯ
  4. ขออาสาสมัครนักเรียน ชูโบร์ชัวร์ให้เพื่อนดู และให้เพื่อนเดาว่า แม่นหรือไม่ ตรงกับตัวฉันกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะอะไร
  5. ให้นักเรียนอาสาสมัครเฉลยสิ่งที่ตัวเองคิด พร้อมเหตุผล
  6. ครูชวนถอดบทเรียน สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมครั้งนี้ ตัวอย่างคำถามถอดบทเรียน เช่น
    • รู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมวันนี้
    • ได้เรียนรู้หรือสังเกตเห็นอะไรจากกิจกรรมครั้งนี้ ทั้งตอนที่เรารู้ว่าหยิบได้อะไร หรือตอนที่เพื่อนในห้องมองว่าสถาบันนี้ตรงกับเราแค่ไหน
    • 1 เรื่องที่นักเรียนตั้งใจจะทำเพื่อพัฒนาตัวเองให้พร้อมมากขึ้นสำหรับการเรียนต่อ

รู้จักกันให้มากขึ้นด้วย What’s in your bag?

สิ่งนี้ไม่ใช่กระเป๋านักเรียน แต่เป็น … “ตัวแทนความแตกต่างหลากหลาย” !

กิจกรรม: รู้จักกันให้มากขึ้นด้วย What’s in your bag?**

What’s in your bag? เป็นกิจกรรมที่ชวนให้นักเรียนได้บอกเล่าแบ่งปันเรื่องราวความเป็นตัวเองผ่านข้าวของที่มีในกระเป๋าของตัวเอง

เป้าหมาย

นักเรียนได้รู้จักและเข้าใจเพื่อนหรือชุมชนรอบตัว สามารถเปิดรับความแตกต่างหลากหลายโดยไม่ด่วนตัดสิน

อุปกรณ์

  • กระเป๋าของนักเรียนและคุณครู

กระบวนการ

  1. คุณครูชี้แจงเป้าหมาย และชวนทบทวนข้อตกลงร่วมและพื้นที่ปลอดภัยของห้องเรียน ที่จะเปิดใจรับฟังโดยไม่ตัดสินผิด-ถูก แกล้งแซวกัน หรือนำเรื่องราวออกไปพูดข้างนอกต่อ สามารถทบทวนก่อนเริ่มสอนได้ที่

  2. ให้โจทย์นักเรียน “เลือกของ 1 ชิ้นในกระเป๋า ที่คิดว่าสามารถบ่งบอกความเป็นตัวเองของเราได้ พร้อมเหตุผล” แล้วเก็บเป็นความลับไว้ก่อน

  3. ให้นักเรียนจับกลุ่ม กลุ่มละ 3 - 4 คน สลับกันแนะนำของแทนตัวและเล่าเหตุผลให้กันฟัง โดยระวังไม่ให้เพื่อนกลุ่มอื่นเห็น (ใช้เวลาคนละประมาณ 2 - 3 นาที)
    • *หากคุณครูร่วมเล่นด้วย จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกว่าได้ใกล้ชิดและได้รู้จักคุณครูมากขึ้นด้วยค่ะ ^^
  4. กลับมารวมเป็นรวมวงใหญ่ แล้วให้แต่ละกลุ่มเลือกหยิบของ 1 ชิ้นของกลุ่ม เพื่อชวนเพื่อนในห้องทายว่าน่าจะเป็นของสมาชิกคนไหนในกลุ่ม พร้อมยกเหตุผลมาแลกเปลี่ยนกัน
  5. ครูชวนถอดบทเรียน สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมครั้งนี้ ตัวอย่างคำถามถอดบทเรียน เช่น
    • รู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมวันนี้
    • ได้เรียนรู้หรือสังเกตเห็นอะไรจากกิจกรรมครั้งนี้ ทั้งตอนที่เรากำลังเลือกหยิบของ 1 อย่างจากในกระเป๋า, ตอนแชร์ในกลุ่มย่อย, ตอนทายเพื่อนในวงใหญ่
    • คิดว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้วันนี้ จะนำไปปรับใช้ในชีวิตการเรียนหรือการทำงานในอนาคตอย่างไร

เปิดโลกสายการเรียนและอาชีพยุคเมตาเวิร์ส

สิ่งนี้ไม่ใช่มือถือหรือคอมพิวเตอร์ แต่เป็น … “จักรวาลสายการเรียนและอาชีพ” !

กิจกรรม: เปิดโลกสายการเรียนและอาชีพยุคเมตาเวิร์ส (Metaverse)

ปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้น่าสนใจและสร้างการมีส่วนร่วมมากขึ้น เพิ่มความหลากหลายที่ปกติจะให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์ เป็นการสืบค้น-ตกผลึกในตัวเอง-แบ่งปันกับเพื่อน ผ่านพื้นที่กลางที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้แบบออนไลน์

กิจกรรมนี้สามารถใช้ได้ทั้งการเรียนแบบออนไลน์ และการเรียนในห้องที่คุณครูสามารถฉายจอหรือขึ้นสไลด์ได้

เป้าหมาย

นักเรียนรู้จักและเข้าใจในสายการเรียนและอาชีพต่างๆ มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงได้

อุปกรณ์

  • โทรศัพท์มือถือของนักเรียน (กรณีที่นักเรียนไม่มี ให้คุณครูจัดระบบการเรียนรู้เป็นแบบจับคู่)
  • ทีวี ที่ต่อคอมพิวเตอร์เชื่อมอินเทอร์เน็ต
  • โปรแกรมหรือเครื่องมือที่รองรับภาษาไทย สำหรับใช้เป็นพื้นที่กลาง เช่น Miro, Mentimeter, Google slide

กระบวนการ

  1. คุณครูชี้แจงเป้าหมาย และชวนทบทวนข้อตกลงร่วมก่อนการอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือในชั้นเรียน
  2. ให้นักเรียนสแกนหรือคลิกลิ้งก์เพื่อเข้าระบบ พร้อมใช้พื้นที่กลาง (บางเครื่องมือจำเป็นต้องลงทะเบียนสร้าง Account ก่อนจึงจะสามารถเข้าใช้งานได้)
  3. ครูแบ่งพื้นที่ หรือแบ่งหน้า ตามจำนวนโจทย์ที่เตรียมมา แล้วให้นักเรียนช่วยกันใส่ข้อมูล ตัวอย่างโจทย์การเรียนรู้
    • จักรวาลสายการเรียนคณะวิทยาศาสตร์: 1) คิดว่าสายการเรียนนี้ จะได้เรียนวิชาอะไรหรือเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง 2) สายการเรียนนี้มีในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันไหนบ้าง 3) คนที่จะเข้าเรียนที่นี่ได้ น่าจะต้องมีคุณสมบัติอะไร 4) 3 เรื่องที่ควรรู้ก่อนตักสินใจสมัครเรียนที่นี่
    • จักรวาลอาชีพสายวิทยาศาสตร์: 1) คิดว่าเรียนจบด้านวิทยาศาสตร์ จะทำอาชีพอะไรได้บ้าง 2) แบ่งกลุ่มกันสืบค้นและมานำเสนอข้อมูลอาชีพในสายวิทยาศาสตร์ ที่คิดว่าเพื่อนกลุ่มอื่นต้องไม่รู้แน่ๆ! 3) ชวนชี้เป้าแหล่งสืบค้นหรือเรียนรู้เกี่ยวกับโลกวิทยาศาสตร์
  4. ครูชวนถอดบทเรียน สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมครั้งนี้ ตัวอย่างคำถามถอดบทเรียน เช่น
    • รู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมวันนี้
    • ได้เรียนรู้หรือค้นพบอะไรจากกิจกรรมครั้งนี้
    • 1 เรื่องที่อยากรู้เพิ่มเกี่ยวกับจักรวาลสายการเรียนหรืออาชีพ หลังจบกิจกรรมวันนี้

ชวนนักเรียนทำ Odyssey Plan

สิ่งนี้ไม่ใช่กระดาน แต่เป็น … “พื้นที่สำหรับออกแบบเส้นทางชีวิต” !

กิจกรรม: ชวนนักเรียนทำ Odyssey Plan

Odyssey Plan เป็นเครื่องมือช่วยฝึกระบบการคิด ที่เชื่อว่า คนเราควรมีแผนในการทำอะไรมากกว่า 1 แผน เพื่อให้เห็นทางเลือกที่เป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกัน ที่จะพาให้เราสามารถไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งใจไว้ได้ โดยไอเดียนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทีมงานนำมาปรับให้เหมาะกับการทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียนทั้งห้องสำหรับการวางแผนเป้าหมายหลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาค่ะ

เป้าหมาย

นักเรียนมีแนวทางในการวางแผนศึกษาต่อของตัวเอง

อุปกรณ์:

  • กระดานหน้าห้อง
  • ชอล์กหรือปากกาเขียนกระดาน
  • กระดาษเท่าจำนวนนักเรียน (อาจเป็นกระดาษหน้าเปล่าในสมุดที่ทุกคนมีอยู่แล้ว)
  • ปากกา (ของนักเรียนเอง)

กระบวนการ:

  1. คุณครูชี้แจงเป้าหมาย พร้อมแนะนำเครื่องมือช่วยทบทวนความคิดและทำแผนเส้นทางชีวิต
  2. ขออาสาสมัครนักเรียนที่อยากเสนอตัวเองเป็นโจทย์ในกิจกรรมครั้งนี้
  3. ให้นักเรียนอาสาสมัครเล่าภาพรวมเกี่ยวกับตัวเอง ทั้งความฝัน เป้าหมายในชีวิต กับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งความเป็นตัวเอง (สนใจอะไร มีทักษะความสามารถอะไรบ้าง) ความคาดหวังหรือเงื่อนไขทางครอบครัว
    • *หากนักเรียนอาสาสมัครมีแผนอนาคตของตัวเองแล้ว ให้เขียนใส่กระดานเป็นแผนที่ 1 หากไม่มี ก็เป็นโอกาสดีที่ทุกคนในห้องจะช่วยกันคิดและเสนอไอเดียให้เพื่อนค่ะ
  4. แบ่งกลุ่มนักเรียน กลุ่มละ 3 - 4 คน ช่วยกันคิดแผนสำรองให้เพื่อนเจ้าของเรื่องราวบนกระดาน คุณครูอาจให้โจทย์ชวนคิดเพิ่มเติม เช่น ขอแผนสำรองหากแผนที่ 1 ไม่สามารถเป็นจริงได้, ขอแผนสำรองที่อิงตามข้อมูลเรื่องที่เพื่อนสนใจ, ขอแผนสำรองอะไรก็ได้ ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกความเป็นไปได้! เป็นต้น
  5. แต่ละกลุ่มเสนอแผนที่คิดว่าเหมาะกับเพื่อนที่สุด
  6. เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น ทั้งจากมุมนักเรียนอาสาสมัคร และเพื่อนในห้อง ว่าคิดเห็นอย่างไร อาจช่วยกันวิเคราะห์ในประเด็น ดังนี้
    • แผนนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เทียบกับทรัพยากรหรือต้นทุนที่มี
    • แผนนี้ตรงกับความชอบหรือความสนใจของเพื่อนที่เป็นนักเรียนอาสาสมัคร มากแค่ไหน
    • คิดว่า เพื่อนจะมั่นใจได้แค่ไหนว่าแผนนี้จะประสบความสำเร็จ
    • แผนนี้มีความสอดคล้องกับชีวิตและเป้าหมายที่เพื่อนมี มากน้อยแค่ไหน
  7. ครูชวนถอดบทเรียน สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมครั้งนี้ ตัวอย่างคำถามถอดบทเรียน เช่น
    • รู้สึกอย่างไรกับกรณีศึกษาจากเพื่อนบ้าง
    • ได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมครั้งนี้
    • คิดว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้วันนี้ จะนำไปปรับใช้กับตัวเองและการออกแบบเส้นทางในอนาคตอย่างไร
    • ขอ 3 คำ ที่อยากบอกกับเพื่อนคนนี้

คอร์สเรียนฟรี สุดพิเศษ เอาไปใช้ได้จริง! สำหรับครูแนะแนว

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ มีเกียรติบัตร ***จะได้รับเมื่อทำ Quiz และแบบประเมินหลังเรียนจบเรียบร้อย

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา