มัดรวม 6 กิจกรรมชวนนักเรียนทบทวนตนเอง

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  ไอเดียการสอน กิจกรรม

อ่านแล้ว: 4283 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

การชวนนักเรียนสะท้อนคิดทบทวนตนเอง (Reflection) ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนเห็นความสำคัญ และเชื่อมโยงเนื้อหาที่เรียนกับชีวิตของตนเองได้ค่ะ การทบทวนตนเองที่แนะแนวฮับกำลังจะกล่างถึงนี้ สามารถครอบคลุมได้หลากหลายด้าน เช่น

  • ทบทวนความรู้ การเรียนรู้ของตนเอง เช่น การใช้คำถามเพื่อให้นักเรียนตอบว่า ‘รู้อะไร’ ‘รู้ได้อย่างไร’ และ ‘ทำไมเราต้องรู้’ เป็นต้น

  • ทบทวนความรู้สึก ความคิดของตนเอง เช่น ‘รู้สึกอย่างไรกับการเรียนเรื่องนี้’ หรือ ‘เพราะอะไรถึงรู้สึกแบบนั้น’

  • ทบทวนคุณค่า ประโยชน์สำหรับการนำไปใช้ในชีวิต เช่น ‘นักเรียนจะนำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร’’ เป็นต้น

คุณครูสามารถชวนนักเรียนทบทวนตนเองได้หลากหลายช่วงเวลาและวิธีการ ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ว่าอยากให้นักเรียนสะท้อนการเรียนรู้ในเรื่องใด เพราะประโยชน์ของการทบทวนของตนเอง จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ลึกซึ้ง ได้เข้าใจตนเองและผู้อื่นมากยิ่งขึ้น

วันนี้ แนะแนวฮับ จึงขอมัดรวมกิจกรรมชวนนักเรียนทบทวนตนเองมาฝาก โดยแบ่งหมวดกิจกรรมออกเป็น 3 หมวด ตามช่วงเวลาการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนค่ะ พร้อมแล้วไปดูกันเลยค่า! 🙂🙂

หมวดที่ 1 ให้นักเรียนทบทวนตนเองระหว่างครูสอน

เป็นกิจกรรมสั้นๆ เพื่อเช็กความเข้าใจของนักเรียนระหว่างการสอน และนักเรียนเองก็สามารถประเมินตนเองไปพร้อมกันได้ด้วย ซึ่งเทคนิคนี้อาจไม่ได้เน้นความเข้าใจในเชิงลึก แต่เป็นความเข้าใจในระดับ ‘รู้อะไร’ เท่านั้น ได้แก่

ชื่อภาพ

1. กิจกรรมไฟจราจร 🔶 อุปกรณ์: แผ่นกระดาษสี 3 สี (เขียว-เหลือง-แดง) ขนาดประมาณฝ่ามือ สำหรับนักเรียนทุกคน

🔶 วิธีการ: ให้นักเรียนทบทวนความเข้าใจของตนเองในระหว่างที่ครูสอน โดยใช้สัญลักษณ์ของสัญญาณไฟ ซึ่งครูและนักเรียนร่วมกำหนดความหมายของสีต่างๆ เช่น

  • สีเขียว หมายถึง ฉันเข้าใจและสามารถอธิบายเรื่องนี้ให้เพื่อนฟังได้

  • สีเหลือง หมายถึง ฉันยังสับสนในบางเรื่อง

  • สีแดง หมายถึง ฉันไม่เข้าใจและต้องการคนช่วยเหลือ

🔶 ตัวอย่างสถานการณ์การนำไปใช้:

  • ครูตั้งคำถามข้อใดข้อหนึ่ง แล้วให้นักเรียนชูป้ายสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง เพื่อแสดงระดับความเข้าใจในเรื่องที่เรียนอยู่

  • ครูมอบหมายให้นักเรียนอ่านเนื้อหาในหนังสือเองในเวลาที่กำหนด และขอให้นักเรียนระบายสัญลักษณ์สีเขียว เหลือง หรือแดง ในหน้าหรือย่อหน้านั้นๆ เพื่อเป็นการทบทวนความเข้าใจของตนเอง

***หมายเหตุ: การใช้กิจกรรมนี้ อาจไม่สามารถสะท้อนถึงความเข้าใจของนักเรียนได้อย่างแม่นยำ 100% เพราะอาจจะมีนักเรียนบางคนที่ตอบไม่ตรงความจริง หรือไม่รู้จะตอบอะไรก็เลยสุ่มๆ เอา จะได้ไม่โดนเพ่งเล็ง ดังนั้น ขอแนะนำให้คุณครูใช้กิจกรรมนี้เพื่อสังเกตสถานการณ์เบื้องต้น โดยอาจใช้ควบคู่กับการสุ่มเรียกนักเรียนตอบหรือแลกเปลี่ยน เป็นการทดสอบรายบุคคลก็ได้

ชื่อภาพ

2. กิจกรรมกระดานจิ๋ว

🔶 อุปกรณ์: กระดาษแข็งตัดขนาดเท่า A4 หรือซองแฟ้มสีใส ลักษณะผิวมัน ขนาด A4 สำหรับนักเรียนทุกคน

🔶 วิธีการ: ให้นักเรียนเขียนคำตอบ หรือเขียนความเข้าใจของตนเองลงบนกระดานจิ๋วในเวลาอันรวดเร็ว แล้วชูคำตอบของตนเองขึ้นมา เมื่อครูนับ 1-2-3!

🔶 ตัวอย่างสถานการณ์การนำไปใช้:

เมื่อคุณครูสอนเนื้อหาไปประมาณ 20 นาที แล้วต้องการเช็กความเข้าใจของนักเรียน หรือความรู้สึกของนักเรียนว่ายังไหวอยู่หรือเปล่า คุณครูสามารถตั้งคำถามในเรื่องที่เรียน หรือถามความรู้สึกของนักเรียน ณ เวลานั้นได้ เช่น

  • เรื่องที่เรียนตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ขอเช็กระดับของแต่ละคนหน่อยนะคะ เลือกเขียนเลข 1 - 5 ใส่กระดานได้เลย ถ้าง่ายมากคือ 1 ยากมากคือ 5 ?

  • เขียนชื่ออาชีพใหม่ๆ ที่นักเรียนที่คิดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 10 ข้างหน้าให้มากที่สุด

***หมายเหตุ: คำถามที่ใช้ควรเป็นคำถามที่ตอบได้ง่าย สั้น ไม่ต้องใช้การอธิบายมาก แต่เน้นให้นักเรียนเขียนความคิดออกมาอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องพะวงว่าจะรอลอกเพื่อน

หมวดที่ 2 ให้นักเรียนทบทวนตนเองหลังจบคาบเรียน

เป็นกิจกรรมที่ครูต้องแบ่งเวลาช่วงท้ายคาบประมาณ 10 - 15 นาที เพื่อให้นักเรียนได้คิดทบทวนตัวเองทั้งในด้านของความรู้ และความรู้สึกของตนเองให้ชัดเจนและลึกขึ้นกว่าแค่ ‘รู้อะไร’ แต่เพิ่มเป็น ‘รู้ได้อย่างไร’ ‘ทำไมต้องต้องรู้’ และ ‘จะนำไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร’ พร้อมทั้งสามารถให้คำแนะนำเพิ่มเติมได้

ชื่อภาพ

1. กิจกรรม Exit Ticket

🔶 อุปกรณ์: กระดาษ A3 ที่ตีตารางออกเป็น 3 ช่อง สำหรับนักเรียนทุกคน ขึ้นอยู่กับประเภทคำถามของคุณครู

🔶 วิธีการ: ก่อนจบคาบเรียน 10 - 15 นาที ให้คุณครูแจกกระดาษ Exit Ticket ให้นักเรียนเพื่อให้นักเรียนเขียนสะท้อนความรู้สึกของตนเอง โดยที่ยังไม่ต้องแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ในห้องเรียน

🔶 ตัวอย่างสถานการณ์การนำไปใช้:
คุณครูสามารถแบ่งคำถามออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  • ประเภทที่ 1: คำถามเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียน เช่น

    • “นักเรียนคิดว่าตนเองเข้าใจบทเรียนนี้มากน้อยแค่ไหน ให้คะแนน 1 - 5 คะแนน เพราะอะไร”
    • “สิ่งสำคัญที่สุดที่นักเรียนได้เรียนรู้จากเรื่องนี้คืออะไร และทำไมถึงสำคัญ”
    • “วันนี้นักเรียนมีส่วนร่วมอะไรในคาบเรียนนี้บ้าง”
    • “คาบต่อไปที่เราจะเรียนเรื่องนี้กันต่อ นักเรียนอยากเรียนเรื่องไหนเพิ่มบ้าง”
    • “นักเรียนจะนำเนื้อหาส่วนใดในบทเรียนนี้ไปใช้ในชีวิตบ้าง”
  • ประเภทที่ 2: คำถามเกี่ยวกับบรรยากาศการเรียนรู้ เช่น

    • “มีอะไรบ้างที่นักเรียนอยากให้ครู ‘เริ่ม’ ทำในคาบเรียนถัดไป เพราะอะไร ยกตัวอย่างให้ด้วยนะคะ”
    • “มีอะไรบ้างที่นักเรียนอยากให้ครู ‘เลิก’ ทำในคาบเรียนถัดไป เพราะอะไร ยกตัวอย่างให้ด้วยนะคะ”
    • “มีอะไรบ้างที่นักเรียนอยากให้ครู ‘ทำต่อ’ ในคาบเรียนถัดไป เพราะอะไร ยกตัวอย่างให้ด้วยนะคะ”
  • ประเภทที่ 3: คำถามเกี่ยวกับความรู้สึกของนักเรียนต่อการเรียนรู้ เช่น

    • “นักเรียนรู้สึกอย่างไรกับคาบเรียนวันนี้”
    • “ช่วงเวลาไหนของคาบเรียนที่นักเรียนประทับใจที่สุด เพราะอะไร”
    • “นักเรียนจะมีส่วนร่วมในการสร้างห้องเรียนที่นักเรียนอยากเรียนได้อย่างไร”

***หมายเหตุ: Exit Ticket เป็นกิจกรรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และสามารถปรับตามบริบทผู้เรียนได้ สิ่งที่สำคัญคือ การเลือกคำถามคละประเภทให้เหมาะสมกับคาบเรียนและผู้เรียน โดยแต่ละครั้งไม่ควรมีเกิน 3 - 5 ข้อ

ชื่อภาพ

2. กิจกรรมภาพสะท้อนการเรียนรู้

🔶 อุปกรณ์: คุณครูเตรียมภาพที่สะท้อนการเรียนรู้การรู้ เช่น ภาพฤดูกาลหรือภาพธรรมชาติที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกัน ประโยคในเนื้อเพลง 1 ท่อน ทำใส่ Powerpoint เพื่อให้นักเรียนเลือก

🔶 วิธีการ: หลังจากจบเนื้อหาในคาบเรียน คุณครูให้เวลานักเรียนทบทวนกับตัวเอง 5 นาที แล้วให้นักเรียนเลือกภาพ หรือเนื้อเพลงที่ครูเตรียมให้

🔶 ตัวอย่างสถานการณ์การนำไปใช้: คุณครูกำลังสอนนักเรียนเรื่องความสัมพันธ์ในวัยรุ่น แล้วให้นักเรียนเลือกภาพ หรือเนื้อเพลงที่ตรงกับประสบการณ์ของตนเองและบทเรียนในวันนี้ ตัวอย่างเนื้อเพลงที่นำมาใช้ เช่น

  • “ทุกครั้งที่เราพบกัน ทุกครั้งที่เธอหันมา ที่ฉันเฉยๆ รู้ไหมฉันฝืนแค่ไหน”
  • “โปรดส่งใครมารักฉันที อยู่อย่างนี้มันเหงาเกินไป”

***หมายเหตุ: คุณครูอาจจะต้องพยายามใช้คำถามเพื่อให้นักเรียนเชื่อมโยงภาพที่เลือกกับบทเรียนในแง่มุมในแง่มุมหนึ่งให้ได้ เพื่อที่จะไม่ให้นักเรียนสะท้อนตัวเองออกนอกประเด็น

หมวดที่ 3 ให้นักเรียนทบทวนตนเองหลังเห็นผลสอบกลางภาคหรือปลายภาค

เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนทบทวนเรื่องที่ผ่านมา ได้สำรวจความรู้สึกของตนเอง และตั้งเป้าหมายใหม่ต่อไป

ชื่อภาพ

1. กิจกรรมจดหมายถึงตัวเองในอนาคต

🔶 อุปกรณ์: กระดาษ A4 สำหรับนักเรียนทุกคน

🔶 วิธีการ: ครูให้นักเรียนเตรียมกระดาษ 1 แผ่น พร้อมทั้งให้เวลานักเรียนได้นั่งนิ่งๆ เพื่อทบทวนตนเองประมาณ 5 นาที แล้วปล่อยโจทย์คำถามชวนนักเรียนคิดและลงมือเขียน

🔶 ตัวอย่างสถานการณ์การนำไปใช้:

เมื่อนักเรียนเห็นผลสอบกลางภาคหรือปลายภาคของตัวเอง อาจจะมีนักเรียนบางคนรู้สึกเครียด หรือกังวลใจกับผลคะแนน ขอให้ครูใช้เวลา 1 คาบเรียนชวนนักเรียนทำกิจกรรมนี้ โดยแบ่งเวลาออกเป็น 2 ช่วง และปล่อยโจทย์ชวนนักเรียนคิด ดังนี้

  • ช่วง 1: ทบทวนตัวเองถึงผลคะแนน

“ชวนนักเรียนทบทวนตัวเองหลังจากเห็นผลคะแนนว่า นักเรียนรู้สึกอย่างไร ได้คะแนนตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ไหม หากตรงตามเป้าหมาย ขอให้นักเรียนเขียนชื่นชมตัวเองในความพยายาม และความตั้งใจที่ผ่านมา แต่ถ้าหากไม่ตรงตามเป้าหมาย ขอให้นักเรียนลองคิดดูว่า มีอะไรที่นักเรียนจะต้องปรับ หรือแก้ไขจากเดิม เพื่อให้การสอบครั้งต่อไปเราทำได้ดีขึ้น”

  • ช่วงที่ 2: ตั้งเป้าหมายถึงตัวเองในอนาคต

“ชวนนักเรียนลองนึกถึงภาพตัวเองในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า นักเรียนเห็นตัวเองเป็นอย่างไร มีนิสัยอย่างไร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ทำอะไร อยู่ที่ไหน สภาพแวดล้อมที่อยู่เป็นอย่างไร ทำอะไรสำเร็จแล้วบ้างและมีอะไรที่อาจยังไม่สำเร็จบ้าง มีอะไรที่จะช่วยทำให้เราสำเร็จได้ มีประโยคหรือคำแนะนำอะไรบ้างที่อยากบอกกับตัวเอง ขอให้นักเรียนเขียนบรรยายออกมาเป็นจดหมายถึงตัวเองในอนาคตนะคะ”

***หมายเหตุ:

  • พยายามเชิญชวนให้นักเรียนใช้คำว่า “ยัง” ในการบรรยายถึงเหตุการณ์ในอนาคต เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ไม่ให้นักเรียนจมกับความคิดบั่นทอนตนเองในเชิงลบ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือความล้มเหลว เช่น “ฉันไม่เก่งอังกฤษ” เป็น “ฉันยังไม่เก่งอังกฤษ”

  • คุณครูสามารถทำกิจกรรมต่อเนื่องจากกิจกรรมนี้ได้ คือ การชวนนักเรียนตั้งเป้าหมายและแตกเป้าออกมาเป็นเป้าหมายย่อยๆ สำหรับให้นักเรียนแยกย้ายไปพัฒนาตัวเองในแต่ละสัปดาห์ เทอม หรือปี ก็ได้

ชื่อภาพ

2. กิจกรรมตาราง 3 ช่อง (อดีต/ ปัจจุบัน/ อนาคต)

🔶 อุปกรณ์: กระดาษ A4 ที่ตีตารางออกเป็น 3 ช่องในแนวตั้ง

🔶 วิธีการ: ครูแจกกระดาษตาราง 3 ช่องให้นักเรียน ซึ่งในตารางจะมีโจทย์คำถามที่แตกต่างกัน และเมื่อนักเรียนทบทวนตัวเองเสร็จเรียบร้อย ให้นักเรียนจับกลุ่ม 2 - 3 คนมาแลกเปลี่ยนกัน

🔶 ตัวอย่างสถานการณ์การนำไปใช้: หลังจากที่แจกกระดาษให้นักเรียนแล้ว ขอให้คุณครูชวนนักเรียนทบทวนไปทีละช่อง ซึ่งในแต่ละช่องจะประกอบไปด้วยประเด็นชวนคิดต่อไปนี้

  • ช่องที่ 1 : ความสำเร็จที่ผ่านมาในอดีต หรือสิ่งที่ทำได้ดี

  • ช่องที่ 2 : สถานการณ์หรือเรื่องราวในชีวิตตอนนี้ที่ดี หรือไม่ดี มีอะไรบ้าง

  • ช่องที่ 3 : เป้าหมายในอนาคตที่อยากทำให้สำเร็จ

***หมายเหตุ :

  • กิจกรรมนี้จะช่วยให้นักเรียนเห็นความเชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้ ดังนั้น ขอให้ครูพยายามให้นักเรียนคิดและตกผลึกประเด็นสำคัญออกมาให้อยู่ใน 1 หน้ากระดาษ

  • คุณครูสามารถใช้ข้อมูลจากกิจกรรมนี้ จัดชั่วโมงพูดคุยรายบุคคลเพื่อติดตามสถานการณ์ความก้าวหน้าของนักเรียนได้

สิ่งสำคัญของการทำกิจกรรมชวนนักเรียนทบทวนตนเอง คือ การตั้งคำถามที่ดี และการได้รับฟีดแบ็กจากเพื่อนและครู เพราะฉะนั้น แนะแนวฮับจึงอยากเชิญชวนให้คุณครูทุกท่านจัดช่วงเวลาให้นักเรียนได้ทบทวนตัวเองให้บ่อยและต่อเนื่อง ประมาณวันละ 5 - 10 นาที เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เข้าใจตัวเองมากขึ้นทั้งในแง่ของความรู้ ทักษะ เท่าทันความรู้สึก และเห็นคุณค่าหรือสิ่งสำคัญที่ตนเองยึดถือ

คุณครูสามารถนำไปปรับใช้ในห้องเรียนได้เลยนะคะ ทีมงานแนะแนวฮับรอฟังฟีดแบ็กจากคุณครูเสมอค่า 🙂🙂

อ้างอิง

  • หนังสือการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง และการประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้
  • 15 ways to spark student reflection in your college classroom https://www.nureva.com/blog/education/15-ways-to-spark-student-reflection-in-your-classroom
  • Message to my future self https://www.theottoolbox.com/message-to-my-future-self/
  • 7 Free Reflection Activities and Revision Exercises for Freelance Trainers & Teachers https://symondsresearch.com/reflection-activities-exercises/

พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา