8 หัวข้อชวนนักเรียนทบทวนตัวเอง ตามแนวคิดวงล้อชีวิต (Wheel of life)
หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน
Tags: ไอเดียการสอน
อ่านแล้ว: 6925 ครั้ง
ชีวิตของคนเรามีหลากหลายด้าน บางช่วงเวลาเราอาจจะให้ความสำคัญกับด้านใดด้านหนึ่งมากเป็นพิเศษ จนหลงลืมด้านอื่นๆ ไป การชวนนักเรียนทบทวนตนเองอย่างรอบด้าน จะช่วยทำให้นักเรียนเห็นภาพรวมชีวิตและสามารถสร้างสมดุล หรือดูแลทุกๆ ด้านให้ดีขึ้นได้
วันนี้แนะแนวฮับนำไอเดีย ‘วงล้อชีวิต (Wheel of life)’ ที่ถูกคิดค้นโดย Paul J. Meyer มาเป็นหัวข้อในการชวนนักเรียนทบทวนตัวเองและแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียนค่ะ
‘วงล้อชีวิต’ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราได้สำรวจ ทบทวน และตั้งเป้าหมายกับชีวิตของตัวเองได้อย่างรอบด้าน โดยประกอบไปด้วย 8 หัวข้อ ดังนี้
1) ด้านอาชีพ การงาน การเรียน (Work and Study)
2) ด้านการเงิน รายได้ (Finance and Money)
3) ด้านการพัฒนาตัวเอง (Self Development)
4) ด้านครอบครัว (Family)
5) ด้านความสัมพันธ์ เพื่อนฝูง (Relationship and Friend)
6) ด้านสุขภาพ (Health)
7) ด้านจิตวิญญาณ ศาสนา ความสงบทางจิตใจ (Spirit and Region)
8) ด้านการแบ่งปัน ช่วยเหลือสังคม (Sharing and Contribution)
✨Tips ก่อนให้นักเรียนทำกิจกรรม
-
สามารถปรับหัวข้อให้เหมาะสมกับช่วงวัยของนักเรียนได้ เช่น ด้านการงาน สามารถเปลี่ยนเป็นด้านการเรียน (Study) หรือ ด้านจิตวิญญาณและศาสนา ที่ดูเป็นคำที่ยากเกินไป คุณครูอาจปรับเป็นหัวข้อ ‘ความสงบด้านจิตใจ’ แทน ก็ได้ค่ะ
-
สื่อสารและสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า กิจกรรมนี้มีจุดประสงค์เพื่อรู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพื่อการเปรียบเทียบคะแนนของตนเองและเพื่อน
-
สร้างกติการ่วมกัน เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยน เช่น การไม่ตัดสินเพื่อน ไม่ล้อเพื่อน รับฟังเพื่อน และขอให้เก็บเป็นความลับของกันและกัน ทั้งนี้ หากนักเรียนคนใดยังไม่พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนในคาบเรียน คุณครูก็อาจเปิดโอกาสให้นักเรียนส่งผลงานมาให้ครูทีหลัง หรือนัดคุยเป็นการส่วนตัวก็ได้
-
กรณีที่ครูมีเวลาที่จำกัด อาจจะให้นักเรียนทบทวนวงล้อชีวิตทีละ 1 - 2 ด้าน/ คาบ โดยเพิ่มคำถามและระดับการให้คะแนนที่ละเอียดขึ้น และทำจนครบทุกด้านในคาบต่อๆ ไป
🖌️ อุปกรณ์: กระดาษ A4 และปากกา
😃วิธีการทำกิจกรรม
1. แจกกระดาษให้นักเรียนวาดรูปวงกลม แล้วแบ่งวงกลมออกเป็น 8 ด้าน และเพิ่มระดับคะแนน 1 - 10 ลงในแต่ละด้าน
2. ครูตั้งคำถามให้นักเรียนประเมิน ‘ความพึงพอใจ’ ของตนเองในละด้าน จนครบ 8 ด้าน แล้วให้คะแนนจาก 1 - 10 (1 น้อยสุด, 10 มากสุด) โดยครูให้เวลานักเรียนประเมินทุกด้านประมาณ 10 นาที
3. หลังจากให้คะแนนเสร็จหมดทุกด้านแล้ว ให้ลากเส้นต่อจุดที่เราให้คะแนนในแต่ละด้าน เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงกัน
4. ครูให้นักเรียนทบทวนวงล้อชีวิตของตนเอง โดยการตั้งคำถามว่า
-
วงล้อชีวิตของเรามีรูปร่างอย่างไร?
-
มองจากภาพรวม คิดว่าแต่ละด้านมีความสมดุลไหม? หรือมีด้านใดที่ขาดสมดุลไปหรือเปล่า?
***หมายเหตุ: ในขั้นตอนที่ 4 นี้ ขอให้ครูเน้นย้ำกับนักเรียนเรื่องของการเปรียบเทียบวงล้อของตนเองกับเพื่อน และอย่าเพิ่งตัดสินตัวเองในด้านที่ได้คะแนนน้อย
5. ครูให้นักเรียนเลือกด้านที่อยากพัฒนา แล้วให้ระบุว่าเราจะทำอะไรเพื่อให้คะแนนในด้านนี้สูงขึ้นได้บ้าง
แนะแนวฮับอยากแนะนำให้นักเรียนเลือกประมาณ 1 - 3 ด้านที่สำคัญมากในช่วงชีวิตตอนนี้ เพื่อป้องกันการขาดจุดโฟกัสในการลงมือทำ ผ่านการตั้งคำถามว่า
-
มีด้านไหนที่เราอยากปรับหรือพัฒนาเป็นพิเศษบ้าง?
-
เราจะพัฒนาด้านนั้นให้มีคะแนนที่สูงขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร ด้วยวิธีการใดบ้าง?
6. ครูให้นักเรียนจับคู่แลกเปลี่ยนกัน
หลังจากทำกิจกรรม 6 ขั้นตอนเสร็จแล้ว ขอให้คุณครูเน้นย้ำกับนักเรียนอีกครั้งว่า “สิ่งสำคัญของการทบทวนและแลกเปลี่ยนด้วยวงล้อชีวิตนี้ คือ การทำให้แต่ละด้านสมดุลกัน ไม่มีด้านไหนมากหรือน้อยเกินไป” เช่น บางคนได้ 9/10 ในด้านการเรียน แต่ด้านสุขภาพได้ 2/10 ซึ่งอาจสะท้อนว่า นักเรียนยังดูแลสุขภาพของตนเองน้อยเกินไป ควรให้ความสนใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น เพื่อสร้างสมดุลและแรงหนุนด้านอื่นๆ ในชีวิตต่อไป
สำหรับคุณครูที่อยากลองนำไปใช้จัดกิจกรรมกับนักเรียน แนะแนวฮับมีตัวอย่างคำถามแบบพร้อมนำไปใช้ได้เลยมาฝากค่ะ โดยจะใช้การให้คะแนน 1 - 10 (1 = น้อยสุด, 10 = มากสุด) เหมือนเดิม และเพิ่มคำถามปลายเปิดเข้าไป เช่น “เพราะอะไร…” ขอให้อธิบายเพิ่มเติม…” ในทุกข้อคำถามเพื่อให้นักเรียนเขียนอธิบายได้มากขึ้นค่ะ
ด้านการเรียน (Work and Study)
ที่ผ่านมา…
-
นักเรียนพึงพอใจกับคะแนนโดยภาพรวมของตนเองมากน้อยแค่ไหน
-
นักเรียนรู้สึกสบายใจเวลาอยู่ในห้องเรียนนี้มากน้อยแค่ไหน
-
นักเรียนพึงพอใจในการสอนของครูมากน้อยแค่ไหน
ด้านการเงิน (Finance and Money)
ที่ผ่านมา…
-
นักเรียนจับจ่ายใช้สอยได้คล่องตัวมากน้อยแค่ไหน
-
นักเรียนต้องการมีรายได้ที่มากขึ้นมากน้อยแค่ไหน
-
นักเรียนรู้สึกกังวลเรื่องการเงินของตัวเองมากน้อยแค่ไหน
ด้านการพัฒนาตัวเอง (Self Development)
ที่ผ่านมา…
-
นักเรียนได้ไปเข้าอบรมพัฒนาตนเอง หรือไปเข้าค่ายเพิ่มทักษะต่างๆ ให้ตัวเองมากน้อยแค่ไหน
-
นักเรียนรู้สึกมีความสุขหรือชอบเวลาออกไปพัฒนาตนเอง มากน้อยแค่ไหน
ด้านครอบครัว (Family)
ที่ผ่านมา…
-
นักเรียนพูดคุยกับครอบครัวบ่อยแค่ไหน
-
นักเรียนรู้สึกสนิทกับครอบครัวมากน้อยแค่ไหน
-
นักเรียนกล้าเล่าความในใจกับครอบครัวมากน้อยแค่ไหน
-
นักเรียนคิดว่าครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเรา มากน้อยแค่ไหน
ด้านความสัมพันธ์ เพื่อนฝูง (Relationship and Friend)
ที่ผ่านมา…
-
นักเรียนกล้าเล่าเรื่องทุกข์ใจให้เพื่อนสนิทฟังมากน้อยแค่ไหน
-
นักเรียนรู้สึกเป็นที่รักของเพื่อน มากน้อยแค่ไหน
-
นักเรียนรู้สึกว่าเพื่อนให้การช่วยเหลือนักเรียนได้มากน้อยแค่ไหน
ด้านสุขภาพ (Health)
ที่ผ่านมา…
-
นักเรียนทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน บ่อยแค่ไหน
-
นักเรียนนอนหลับสนิท บ่อยแค่ไหน
-
นักเรียนออกกำลังกาย บ่อยแค่ไหน
ด้านจิตวิญญาณ ศาสนา ความสงบทางจิตใจ (Spirit and Region)
ที่ผ่านมา…
-
นักเรียนมีเรื่องกังวล รู้สึกไม่มีความสุขกับชีวิต มากน้อยแค่ไหน
-
นักเรียนมีที่พึ่งทางใจเวลานักเรียนไม่สบายใจ มากน้อยแค่ไหน
ด้านการแบ่งปัน ช่วยเหลือสังคม (Sharing and Contribution)
ที่ผ่านมา…
-
นักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมอาสา ช่วยเหลือสังคมมากน้อยแค่ไหน
-
นักเรียนรู้สึกดี มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือสังคมมากน้อยแค่ไหน
-
นักเรียนต้องการทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมมากน้อยแค่ไหน
ทั้ง 8 หัวข้อนี้ ช่วยให้นักเรียนได้เห็นมิติและมุมมองของชีวิตในหลายๆ ด้าน ซึ่งคุณครูเองก็สามารถนำไปทบทวนกับตัวเองก่อนที่จะนำมาใช้กับนักเรียนได้เช่นกันนะคะ แนะแนวฮับขอแนบลิงก์ไฟล์ PDF วงล้อชีวิตเพื่อนำไปแจกให้นักเรียน หรือจะให้นักเรียนวาดเองโดยดูตามตัวอย่างด้านล่างนี้ก็ได้ค่ะ https://bit.ly/409hBcv
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses