4 ข้อ ครูชวนคุยก่อนสอบ TGAT TPAT
หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน
Tags: ไอเดียการสอน TGAT-TPAT เรียนต่อ
อ่านแล้ว: 1480 ครั้ง
เข้าอาทิตย์สุดท้ายก่อนสอบ TGAT / TPAT แล้วค่ะ คุณครูมีเรื่องที่จะชวนคุยกับนักเรียน ม.6 แล้วหรือยังคะ 🥰🥰
ในช่วงโค้งสำคัญอย่างนี้ แอดมินขอหยิบประเด็นที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับชวนนักเรียน ม.6 มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มาฝากกันค่ะ โดยทั้งหมดนี้เป็นการถอดประสบการณ์จากการสอนของแอดมินกับเพื่อนครูที่รู้จัก การทำความเข้าใจร่วมกันกับนักเรียนเรื่องการใช้โปรแกรมสนับสนุนสำหรับการสอบ TCAS รวมถึงประสบการณ์ตรงในการสอบระดับประเทศจากศิษย์เก่าปีที่ผ่านมา
จะมีประเด็นอะไรบ้าง ชวนคุณครูทุกท่านมาเรียนรู้ไปด้วยกันเลยค่ะ
หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลบางส่วนมาจาก “แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบ” (https://help.mytcas.com/article/231-print-application-form)
ข้อที่ 1 การทำความเข้าใจเรื่องการเซ็นชื่อ และการฝนเครื่องหมายในกระดาษคำตอบ
(ข้อมูลอ้างอิงจากกระดาษคำตอบ การสอบ GAT / PAT ปี 66) มีข้อสังเกตบนกระดาษคำตอบ 2 จุดค่ะ
จุดที่ 1 ช่องการเซ็นชื่อในช่อง “ลายมือชื่อผู้เข้าสอบ”
นอกเหนือจากในกระดาษคำตอบแล้ว ยังมีส่วนของชุดข้อสอบ รวมถึงใบลงชื่อการเข้าสอบที่กรรมการจะคอยเดินส่งให้นักเรียนได้ลงชื่อในแต่ละโต๊ะด้วยค่ะ สรุปหลักจะมีประมาณ 3 จุดที่ต้องเซ็นชื่อ และการเซ็นชื่อทั้ง 3 จุดนี้ อยากแนะนำให้เป็นการเขียนชื่อที่เหมือนกันทั้ง 3 จุด ***อย่าลืมเด็ดขาดนะคะ
จุดที่ 2 การฝนเครื่องหมาย “เลขที่ชุดแบบทดสอบ”
สิ่งที่สำคัญคือ 🚩 ห้ามลืมฝนเลขที่ชุดแบบทดสอบ 🚩 (จะอยู่ที่ข้อ 0 ในรายวิชา TGAT) ตำแหน่งฝนอาจเปลี่ยนแปลงไปตามวิชาที่สอบ ดังนั้นขอให้นักเรียนใช้ความระมัดระวังและรอบคอบในการทวนข้อมูลบนกระดาษคำตอบมากๆ เลยค่ะ
อ้างอิง https://www.mytcas.com/doc/student-exam-tgat-tpat/#t5
ข้อที่ 2 การเตรียมอุปกรณ์การเข้าห้องสอบ
จุดที่ 1 เอกสารบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบรายวิชา (สามารถพิมพ์ได้จาก student.mytcas.com) และ หลักฐานแสดงตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่ออกจากทางราชการ มีรูปผู้เข้าสอบ และเป็นบัตรที่ยังไม่หมดอายุ มาเพื่อเป็นหลักฐานในการเข้าห้องสอบ
จุดที่ 2 อุปกรณ์สำหรับการทำข้อสอบ ได้แก่
-✅ ดินสอ2B จำนวน 3แท่ง
-✅ ยางลบ
-❌ กบเหลาดินสอ ไม่สามารถนำเข้าได้ (สามารถยกมือขอกบเหลาดินสอ จากกรรมการคุมสอบได้) อาจจะนำอุปกรณ์ดังกล่าวเข้าไปในห้องโดยใช้ถุงพลาสติกใสหรือถุงซิปใสเข้าไปได้ ทั้งนี้ต้องอ่านระเบียบข้อปฏิบัติการสอบของสถานศึกษานั้นให้ละเอียด เพื่อความมั่นใจให้ลองถามกรรมการคุมสอบก่อนเข้าห้องสอบดูนะคะ
นอกเหนือจากอุปกรณ์การทำข้อสอบแล้ว ก็มีเรื่องของนาฬิกาข้อมือ ✅ ที่สามารถใส่เข้าไปเพื่อบริหารจัดการเวลา โดยจะอนุญาตแค่เพียงนาฬิกาแบบเข็มเท่านั้น และสวมหน้ากากอนามัยตลอดการสอบ ตามระเบียบที่ ทปอ. แจ้งไว้
สิ่งที่ไม่อนุญาตให้นำเข้า แต่จะมีให้ยืมใช้ เช่น ปากกา และกบเหลาดินสอ ส่วนของอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุ จะไม่อนุญาตให้นำเข้าทั้งสิ้น เช่น น้ำดื่ม ยาดม กระดาษทิชชู่ หรือแม้กระทั่งเสื้อกันหนาว
อ้างอิง https://www.mytcas.com/faq/27/
ข้อที่ 3 การเตรียมความพร้อมอื่นๆ
จุดที่ 1 การเดินทาง
ด้วยระบบการสุ่มเลือกสถานที่สอบ ส่งผลให้นักเรียนหลายคนอาจจะต้องประสบปัญหาการเดินทางไปสอบต่างสถานที่กัน บางคนได้ที่สอบของโรงเรียนตนเอง บางคนอาจจะต้องเดินทางไปสอบในสถานที่ที่ไม่คุ้นชิน ดังนั้นการวางแผนการเดินทางเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ แนะนำให้วางแผนการเดินทางให้นักเรียนไปถึงสนามสอบและหน้าห้องสอบอย่างน้อย 30 นาที ก่อนสอบ
จุดที่ 2 การแต่งกาย
เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันการเข้าใจคลาดเคลื่อน แนะนำให้แต่งชุดนักเรียน แต่ทั้งนี้ หากสถานศึกษาหรือสนามสอบนั้นๆ อนุญาต ก็อยู่ที่การตัดสินใจของนักเรียนเลยค่ะ และส่วนสุดท้ายที่เป็นอีกคำถามยอดฮิตจากนักเรียนก็คือ การสวมเสื้อกันหนาวเข้าห้องสอบ ชัดเจนแล้วค่ะวำสำหรับปีนี้ #ไม่อนุญาตให้ใส่เสื้อกันหนาวเข้าไปค่ะ อันนี้แอดมินแอบไปอ่านเจอในเว็บไซต์ อ้างอิงจากลิงก์ https://help.mytcas.com/article/216-faq-tcas66-20
จุดที่ 3 การเตรียมตัวอื่นๆ
กรณีที่ต้องไปสอบต่างพื้นที่ การเตรียมอาหาร น้ำ ขนม สำหรับระหว่างเบรก หรือพักกลางวัน โดยฝากไว้กับผู้ปกครอง อาจเป็นทางออกหนึ่งที่น่าสนใจค่ะ เพราะปัญหาที่เคยพบเจอ คือ บางสถานที่อาจจะมีจำหน่าย แต่อาจไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้สอบและผู้ปกครองที่ไปด้วย ทั้งนี้ ส่วนของสัมภาระนั้นจะไม่อนุญาตให้นำเข้าห้องสอบนะคะ (บางสถานที่สอบอาจมีบริการรับฝาก บางสถานที่นักเรียนต้องรับผิดชอบสัมภาระของตนเอง) ยังมีรายละเอียดยิบย่อยในส่วนอื่นๆ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากลิงก์ https://help.mytcas.com/article/231-print-application-form
ข้อที่ 4 ข้อควรระวัง
1. เขียนผิดตำแหน่ง ได้กระดาษคำตอบไม่ตรงชื่อ
จำไว้ว่า เมื่อได้รับกระดาษคำตอบทุกครั้ง ให้ตรวจสอบ ชื่อ สกุล ของกระดาษคำตอบให้ครบถ้วนว่ากระดาษคำตอบใบนี้เป็นของเราหรือไม่
และหากลงชื่อหรือเซ็นชื่อผิดตำแหน่ง (เช่น ลงชื่อในตำแหน่งกรรมการคุมสอบ) อันนี้แอดมินแนะนำให้แจ้งกรรมการทันที ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ที่เกิดความผิดพลาด หรือผิดปกติในห้องสอบ กรรมการคุมสอบคือผู้แก้ปัญหาและหาทางออกให้นักเรียน
2. การเช็กความพร้อมอุปกรณ์ให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องสอบ
ระหว่างการสอบอาจเกิดเหตุไม่คาดฝัน ตัวอย่างเช่น ดินสอ2B หักระหว่างฝนข้อสอบ แล้วไม่เหลือดินสอใช้แล้ว ทั้งนี้ นักเรียนสามารถขอความช่วยเหลือจากกรรมการคุมสอบได้ หากเกิดปัญหาระหว่างสอบค่ะ
3. กระดาษคำตอบคือหัวใจสำคัญในระหว่างการสอบ
การรักษาให้กระดาษคำตอบของเราอยู่ในสภาพที่เรียบร้อยจนกว่าจะส่งคืนให้กรรมการคุมสอบ เป็นหน้าที่หลักของเรา กรณีตัวอย่างที่เจอคือ บางสถานที่สอบ มีลิ้นชักใต้โต๊ะเพื่อเก็บของ แต่บางสถานที่สอบเป็นโต๊ะเลคเชอร์ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ นักเรียนอาจจะงีบหลับในระหว่างทำข้อสอบ ทำข้อสอบเสร็จแล้วแต่รอเวลาเพื่อส่งกระดาษคำตอบ หรืออาจจะเผลอทำกระดาษข้อสอบเปียกได้โดยไม่ตั้งใจ อีกกรณีคือ ห้องสอบที่อยู่บนตึกสูง ย่อมมีลมพัดเข้าหน้าต่าง แค่คิดก็ขนลุกค่ะ เพราะแอดมินเคยมีประสบการณ์การวิ่งตามกระดาษคำตอบที่ปลิวจากชั้น 5 มาแล้ว ไม่อยากให้มันเกิดกับนักเรียนคนใดๆ เลยค่ะ เหนื่อยยยย 😭😭
4. ทำข้อสอบไม่ทัน
ต้องขอจัดเรื่องนี้เข้ารายการปัญหายอดฮิตจริงๆ ค่ะ การบริหารจัดการเวลาในการสอบเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ หากเกิดขึ้นแล้วจะไม่มีโอกาสแก้ตัวได้ ข้อดีคือ ตอนนี้ยังมีโอกาสเตรียมตัวก่อนถึงวันสอบ ลองฝึกซ้อมทำข้อสอบแบบจับเวลา สมมติสถานการณ์ดูว่าหากเจอข้อที่ยากจนตอบไม่ได้ นักเรียนจะให้เวลาตัวเองสู้ต่ออีกกี่นาทีจึงจะขยับไปทำข้ออื่นต่อ
ถือเป็น 4 ข้อที่แนะแนวฮับรวบตึงมาให้นะคะ ว่าแต่คุณครูท่านอื่นๆ มีประสบการณ์หรือข้อควรระวังอะไรบ้างที่อยากสื่อสารกับนักเรียน คอมเมนท์แลกเปลี่ยนกันได้เลยนะคะ แอดมินรออ่านค่าาาา 😉😉
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses