5 ขั้นสู่วันเกษียณสุข
หมวดหมู่: พื้นที่เพื่อนครู
Tags: เกษียณ
อ่านแล้ว: 362 ครั้ง
ก็อยากจะขอ เป็นคนถัดไป…
วันเกษียณ อาจจะเป็น 1 ในวันที่ครูหลายๆ คนเฝ้ารอ และอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเราบ้าง แอดมินก็เช่นกันค่ะ /ปาดน้ำตา แต่จริงๆ แล้วการเกษียณก็เป็นอีก 1 ความท้าทายเช่นกัน เพราะเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงหนึ่งของชีวิตที่พ่วงมาพร้อมทั้งเรื่องความรู้สึกและความคิดมากมาย ทั้งการบริหารจัดการการเงิน หรือแผนชีวิตหลังการเกษียณ
เนื่องในวันผู้สูงอายุสากล (1 ตุลาคม) และวันครูโลก (5 ตุลาคม) ปีนี้ แอดมินจึงขอหยิบเอาบทความหนึ่งจากวารสาร BOT พระสยาม Magazine ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่พูดถึง 5 ขั้นตอนสำหรับการวางแผนการเกษียณมาให้คุณครูที่อยากเตรียมแผนเกษียณทุกคน ได้เอาไปลองใช้เตรียมตัวให้มั่นใจมากขึ้น พร้อมด้วยแนะนำการคำนวณเงินเกษียณผ่านโปรแกรมออนไลน์ ที่คุณครูสามารถลองทำแผนคำนวณได้ง่ายๆ มาฝากกันค่ะ
ขั้นตอนที่ 1 หาข้อมูลเกี่ยวกับอายุของตนเองที่ต้องใช้สำหรับวางแผนเกษียณ
3 ข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการวางแผนการเกษียณ ได้แก่
-
อายุปัจจุบันของคุณครู
-
อายุที่คุณครูคาดการณ์ว่าจะเกษียณ ส่วนใหญ่คนทั่วไปจะเกษียณทำงานตอนอายุ 60 ปี โดยเฉพาะในวงการครู ซึ่งอาจจะเร็วกว่านั้น หรือบางท่านอาจจะหลังจาก 60 ก็เป็นไปได้
-
อายุขัย มีข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2564 ที่ประมาณการอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย โดยผู้ชายเท่ากับ 73.5 ปี ผู้หญิงเท่ากับ 80.5 ปี
ขั้นตอนที่ 2 คำนวณเงินที่จะใช้หลังเกษียณ
ลองจินตนาการดูว่า หลังเกษียณไปแล้ว เราจะใช้เงินเดือนละเท่าไร สมมติว่า ปัจจุบันอายุ 30 ปี จะเกษียณอายุตอน 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิต อยู่ถึง 80 ปี ตอนเกษียณอยากใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท (ไม่รวมค่า ใช้จ่ายพิเศษต่าง ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ท่องเที่ยว เปลี่ยนรถยนต์ และซ่อมแซมบ้าน)
ต้องไม่ลืมที่จะคิดอัตราเงินเฟ้อตามไปด้วย เพราะในอนาคตราคาของจะแพงขึ้นแน่นอน ถ้าคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3% ต่อปี ทำให้เงินวงเงิน 20,000 บาทที่คุณครูมองว่าพอใช้ในวันนี้ ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะต้องกลายเป็นยอด 48,545 บาท แปลว่า เมื่ออายุ 60 ปี จะต้องมีเงินเกษียณประมาณ 11 ล้านบาท ดังนั้น ต้องวางแผนไว้ว่าหลังเกษียณจะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% ต่อปี และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3% ต่อปี เพื่อจะใช้จนถึง อายุ 80 ปี
สามารถคำนวณเงินเกษียณผ่านโปรแกรมออนไลน์ได้ที่ https://www.set.or.th/project/caltools/www/html/retirement.html?fbclid=IwAR1B0kFr_UtoBaE3e-1KfJtFvx_iQ9dd_432g3WyUTjqt_kysOB-YLpReQc
ขั้นตอนที่ 3 เช็กเงินออมเพื่อเกษียณ
สำรวจว่าเราได้เก็บหรือลงทุนเพื่อเกษียณไว้ที่ไหนบ้างและตอนนี้มีเงินออมเพื่อเกษียณอยู่เท่าไร ไม่ว่าจะเป็นเงินออมภาคบังคับอย่างกองทุน ประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือ ภาคสมัครใจ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนรวมเพื่อ การเลี้ยงชีพ (RMF) ประกันชีวิตแบบบำนาญ และสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอื่นๆ
ตัวอย่าง: อายุ 30 ปี เงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือน คาดว่า เงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 3% ตอนนี้มีเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 100,000 บาท ในแต่ละเดือนมีอัตราเงินสะสม และอัตราเงินสมทบจากที่ทำงานที่ 3% ต่อเดือน และประมาณการว่าจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6% ต่อปี เมื่ออายุ 60 ปี จะมีเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด 3 ล้านบาท
ขั้นตอนที่ 4 คำนวณเงินออมเพื่อเกษียณที่ยังขาดอยู่
หากไม่พอต้องหาวิธี เช่น ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย นำมาเก็บออมหรือซื้อ RMF เพิ่ม เพื่อให้ได้เงินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ตัวอย่าง: หากต้องมีเงินเกษียณ 11 ล้านบาท หักเงินออมเกษียณที่น่าจะได้เมื่ออายุ 60 ปี จำนวน 3 ล้านบาทในขั้นตอนที่ 3 ก็จะพบว่ายังขาดเงินอีก 8 ล้านบาท
ขั้นตอนที่ 5 วางแผนออมเงินเพื่อเกษียณเพิ่ม
หากต้องออมเงินเพิ่มอีก 8 ล้านบาท โดยลงทุนให้ได้ผลตอบแทน เฉลี่ย 6% ต่อปี เราจะต้องออมเงินเพิ่มสำหรับเกษียณ 8,500 บาท ต่อเดือน
ซึ่งในปัจจุบันมีสินทรัพย์ทางการเงินให้เราเลือกลงทุนหลายอย่าง เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ และกองทุนรวม ที่เราต้องทำความเข้าใจทางเลือกในการลงทุนอย่างรอบคอบ จากนั้นจึงแบ่งเงินไปลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน
หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)
ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง
✅ เรียนฟรี
✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว
✅ มีเกียรติบัตร
คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses