6 วิธีอัปสกิล สำหรับครูที่อยากเข้าไปนั่งในใจเด็กๆ

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags: 

อ่านแล้ว: 946 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

“นั่งหลับอีกแล้ว เด็กคนนี้ต้องไม่อยากเรียนหนังสือแน่ๆ เลย”

“มาสายอีกแล้ว ต้องโดดเรียนไปไหนมาแน่เลย”

คำว่า “เด็กคนนี้…” บางครั้งคุณครูเองอาจจะเผลอไปตัดสินพฤติกรรมของนักเรียนที่แสดงออกมา โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เช่น คุณครูเห็นนักเรียนคนหนึ่งนั่งหลับ แล้วคิดต่อไปว่า “ที่นักเรียนนั่งหลับ เพราะนักเรียนไม่อยากเรียนหนังสือแน่ๆ” แต่ความเป็นจริงแล้ว นักเรียนคนนี้อาจจะไม่สบาย หรือมีปัญหาที่บ้านที่เขาอาจจะไม่พร้อมเรียนก็เป็นได้ ซึ่งบางครั้งคุณครูอาจจะแค่คิด แต่ไม่ได้พูดออกไป การคิดวนซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาจจะส่งผลให้คุณครูมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อนักเรียนคนนั้นโดยไม่รู้ตัวค่ะ

การตัดสินเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน อาจจะด้วยความไม่ตั้งใจ ไม่ทันรู้ตัว หรือเราไม่คิดว่าสิ่งนั้นคือการตัดสินก็ได้ แต่แนะแนวฮับเชื่อว่า คุณครูที่อยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียน อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน จะสามารถเริ่มฝึกฝนให้รู้เท่าทันเจ้าตัวตัดสินของเรา พัฒนาตนเองให้เป็นคนที่พร้อมเปิดใจ และตัดสินนักเรียนและผู้อื่นน้อยลงค่ะ 🙂

แล้วถ้าอยากเข้าไปนั่งในหัวใจน้อยๆ ของนักเรียนล่ะ คุณครูจะทำยังไงได้บ้างนะ? วันนี้แนะแนวฮับมีแนวทางมาแบ่งปันกันถึง 6 วิธีเลย จะมีอะไรบ้าง เราลองตามไปดูกันค่ะ

ชื่อภาพ

1️⃣ ฝึกสังเกตและจับความคิดทางลบของตัวเอง

เป็นวิธีการที่จะช่วยให้เราเห็นรูปแบบการคิดลบ หรือคิดตัดสินของตัวเอง ซึ่งการคิดตัดสินมักจะออกมาเป็นรูปประโยค เช่น

  • “นักเรียนคนนี้ ไม่น่าทำพฤติกรรมแบบนี้เลย” (พฤติกรรม = นั่งหลับ/ มาสาย/ เสียงดัง เป็นต้น)
  • “ถ้าฉันเป็นนักเรียนคนนี้นะ ฉันจะไม่ทำพฤติกรรมแบบนี้เด็ดขาด แต่ฉันจะทำ (พฤติกรรมอื่นที่คิดว่าดีกว่า) แบบนี้แทน”
  • “นักเรียนคนนี้เป็นเด็กดื้อ/ ก้าวร้าว/ ไม่รับฟัง” หรือใช้คำที่ตัดสินพฤติกรรมของนักเรียนไปแล้ว อยากชวนให้คุณครูลองฝึกสังเกตความคิดของตัวเองว่า เรามักจะคิดแบบนี้เมื่อเจอกับนักเรียนหรือไม่ หากคำตอบคือ “ใช่” หรือ “โอ้ บ่อยเลยล่ะ” ก็ยังไม่ต้องเครียดหรือกังวลนะคะ ค่อยๆ เปิดใจรับรู้ หลังจากนั้นให้คุณครูทดลองทำวิธีการที่ 2 ดูค่ะ

2️⃣ เขียนความคิดลงในสมุดบันทึกของตัวเอง

การเขียนไดอารี่หรือทำบันทึกของตัวเอง จะช่วยให้ความคิดของคุณครูชัดเจนขึ้น และทำให้เห็นรูปแบบของสถานการณ์ที่มักจะมีผลทำให้คุณครูเกิดความคิดตัดสินบ่อยๆ เช่น คุณครูมักจะตัดสินนักเรียนว่า นักเรียนดื้อ ไม่เชื่อฟัง เล่นซน ไม่อยู่ในกติกา เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีคนมาสังเกตห้องเรียนเรา จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ที่มีผลมาสังเกตการณ์การสอนของเราที่ผลต่อการความคิดตัดสิน เพราะคุณครูรู้สึกกดดันมากกว่าปกติ หรือกลัวว่าจะถูกประเมินห้องเรียนไม่ผ่าน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าเสียงของการตัดสินอาจจะไม่ชัดเจนเท่านี้ เพราะฉะนั้น การรับรู้ว่าสถานการณ์ หรือสภาพแวดล้อมแบบไหนบ้างที่กระตุ้นให้เราตัดสินผู้อื่นมากขึ้น หรือเร็วขึ้น จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราตัดสินน้อยลง .

3️⃣ ฝึกทักษะการเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ (Empathy)

เพราะนักเรียน คือ “เพื่อนมนุษย์” คนหนึ่งที่ต้องการการเข้าใจเช่นเดียวกัน คุณครูอาจจะเริ่มต้นด้วยความรู้สึก “สงสัย” และ “อยากเข้าใจ” ก่อนเป็นอันดับแรกๆ อาจลองจินตนาการดูว่าคุณครูเองเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาก่อนไหม แล้วคุณครูรู้สึกอย่างไรบ้าง

ถึงแม้ว่าจะไม่เคยผ่านประสบการณ์นั้นๆ มาก่อน คุณครูก็สามารถเริ่มต้นฝึกการเข้าอกเข้าใจได้ด้วยความรู้สึกที่ “อยากจะเข้าใจเพื่อนมนุษย์คนนี้มากขึ้น” ค่ะ หนึ่งในวิธีการที่สำคัญ คือ การเข้าไปถามนักเรียนด้วยความจริงใจและท่าทีเป็นมิตร ซึ่งจะช่วยให้คุณครูมีข้อมูลมากขึ้นและจะช่วยลดการตัดสินได้ เช่น

  • ถามความรู้สึกของนักเรียน เช่น “ตอนนี้นักเรียนรู้สึกอย่างไร”
  • ถามถึงเหตุผลของการแสดงออกพฤติกรรมนั้น เช่น “ทำไม/ เพราะอะไรนักเรียนถึงทำแบบนั้น”
  • ถามถึงสถานการณ์ของนักเรียนที่เจออยู่ เช่น “ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง” “มีอะไรที่หนักใจหรือเปล่า”
  • ถามถึงความต้องการ หรือความช่วยเหลืออื่นๆ เช่น “อยากให้ครูช่วยอะไรไหม”

ชื่อภาพ

4️⃣ ปรับมุมมองความคิดตัดสิน

แนะแนวฮับอยากชวนให้คุณครูลองปรับมุมมองด้วยการเขียนความคิดเป็น 2 มุม ดังนี้ค่ะ

  • ความคิดตัดสิน: “เด็กหญิง A นั่งหลับในเวลาเรียนตลอด ไม่อยากเรียนแน่เลย”
  • ปรับมุมมองใหม่: “ครูสงสัยจัง… ว่าทำไมเด็กหญิง A ช่วงนี้จึงมีพฤติกรรมนั่งหลับบ่อยๆ มีปัญหาอะไรหรือเปล่านะ?”

เพียงแค่ปรับความคิดตัดสิน เป็นการสงสัยและตั้งคำถามกับตัวเอง พร้อมทั้งฝึกเขียนความคิดของตัวเองออกมาในมุมมองที่เข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้นจะทำให้การตัดสินลดน้อยลงค่ะ

5️⃣ พาตัวเองไปเจอความความแตกต่างหลากหลาย

ข้อนี้ถือเป็นการพัฒนาตัวเองในระยะยาวเลยค่ะ ลองพาตัวเองออกไปอยู่ในพื้นที่ๆ คุณครูอาจจะไม่คุ้นชิน ออกไปเจอกับผู้คนใหม่ๆ ที่อาจมีความคิดที่แตกต่างกับเรา ออกไปในพื้นที่ที่ให้เราได้แสดงความคิดเห็น ได้แลกเปลี่ยนกับผู้อื่น เช่น การเข้าอบรมพัฒนาตัวเองในประเด็นต่างๆ เป็นต้น เพราะการได้แลกเปลี่ยนกับผู้อื่นบ่อยๆ จะทำให้เราเข้าใจภูมิหลังของผู้อื่นมากขึ้นและเราจะตัดสินเขาน้อยลง

6️⃣ อย่าลืมแสดงความรักต่อตนเอง

ระหว่างที่กำลังฝึกเรื่องการไม่ตัดสินผู้อื่น ก็อาจจะมีบางวันที่คุณครูเผลอตัดสินผู้อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจก็ได้นะคะ แนะแนวฮับอยากบอกคุณครูว่า “ไม่เป็นไรเลยค่ะ เราอาจทำพลาดไปแต่ก็สามารถตั้งหลักและเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ คุณครูมีศักยภาพ สามารถฝึกทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้ ทั้งนี้ อย่าลืมเข้าอกเข้าใจและให้กำลังใจตัวเองด้วยนะคะ 🙂”

จะฝึกทักษะต้องใช้เวลา การชะลอหรือการลดการตัดสินเป็นกระบวนการที่ต้องฝึกฝนและใช้เวลา หากช่วงไหนที่คุณครูรู้สึกว่า เกิดความคิดเชิงลบกับนักเรียน หรือกับเพื่อนครูมากขึ้น ขอให้คุณครูลองกลับมาทบทวน 6 ขั้นตอนนี้ เพื่อใช้เป็นตัวช่วยให้กลับมารู้เท่าทันตัวเองและฝึกฝนต่อไป แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด คือ การที่คุณครูฝึกด้วยความไม่เคร่งเครียด ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป เพราะหากเราพยายามเข้าใจคนอื่น แต่เราหลงลืมตัวเอง การฝึกฝนนั้นก็คงไม่มีประโยชน์เช่นเดียวกันค่ะ

บางอย่างดูพูดง่ายแต่ทำยาก แต่แนะแนวฮับเชื่อว่ามันจะคุ้มค่าทั้งต่อตัวคุณครูเองและห้องเรียนของพวกเรา โดยเฉพาะนักเรียนที่จะรับรู้ได้แน่นอนว่า คุณครูกำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะเป็นคุณครูที่รักและเป็นพื้นที่ปลอดภัยของพวกเขาค่ะ สู้ๆ นะคะ! 😀

อ้างอิง


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา