ถอดรหัสหนังดังสู่วิธีการสอนในห้องเรียนจริง EP.1

หมวดหมู่: เครื่องมือข้อมูลด้านการสอน

Tags:  ไอเดียการสอน

อ่านแล้ว: 1152 ครั้ง


ภาพประกอบความรู้

“คุณเห็นนักเรียนเป็นพวกปีศาจร้ายหมดเลยหรือครับ!”

เป็นประโยคที่ครูเคลอมองท์ แมทธิว ได้พูดประชดประชันเชิงตั้งคำถามใส่ครูชาเบิร์ท ครูชั้นผู้น้อยสายเฮี้ยบที่กำลังกล่าวโทษนักเรียนด้วยท่าทีดุดัน โดยไม่คิดแม้แต่จะฟังคำอธิบายของนักเรียนแม้แต่น้อย

ประโยคนี้มาจากหนังเรื่อง The Chorus ดนตรีบรรเลง บทเพลงชีวิต (2004)

เป็นภาพยนตร์จากประเทศฝรั่งเศส ได้รับรางวัลสาขา Academy Award Nominations Best Foreign Language Film ซึ่งเป็นหนังที่ทำให้ผู้ชมเกิดแรงบันดาลใจ พร้อมทั้งเสียน้ำตาด้วยความซาบซึ้งไปกับเรื่องราวของ ‘ครูและศิษย์’ ในโรงเรียนดัดสันดานที่มีชื่อว่า ‘ฟงด์ เดอ เลตอง’

ความประทับใจที่ไม่อยากให้จบเพียงแค่ในหนัง 🙂

แนะแนวฮับขอนำเรื่องราวจากหนังมาถอดรหัส ในแง่มุมของความคิด ความเชื่อ และวิธีการของ 2 ตัวละคร ได้แก่

  1. ครูเคลอมองท์ แมทธิว ครูดนตรีที่มีบุคลิกเรียบง่าย ถ่อมตัว แต่ใช้หัวใจของความเป็นครูในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้

  2. ครูใหญ่ราแชง ครูใหญ่จอมโหด ที่มีนิสัยเจ้าระเบียบ ใช้วิธีการบริหารโรงเรียนตามความเชื่อที่ว่า “แรงมา = แรงกลับ (Action = Reaction)” เพื่อใช้อำนาจในการควบคุมทุกอย่างในโรงเรียน

ก่อนอื่น ต้องขอเกริ่นเรื่องย่อให้คุณครูทุกคนได้เห็นถึงบริบทของโรงเรียนและพฤติกรรมของตัวละครในโรงเรียนแห่งนี้ก่อน (***โปรดระวัง มีสปอยล์)

หนังดำเนินเรื่องโดยการเล่าชีวิตของครูคนหนึ่ง ชื่อว่า เคลอมองท์ แมทธิว เป็นนักดนตรีที่ตกงานแล้วมาสมัครเป็นครูในโรงเรียนฟงด์ เดอ เลตอง (Fond de l'Étang) ภาษาไทยแปลว่า ก้นบ่อน้ำ ซึ่งอาจเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ว่า เป็นโรงเรียนกินนอนที่รวมตัวของเหล่าเด็กชายที่ไม่มีพ่อแม่ สูญเสียครอบครัวจากสงคราม หรือเป็นเด็กที่กระทำผิดแล้วถูกส่งมาที่โรงเรียนแห่งนี้ เพราะฉะนั้น ครูแมทธิวจึงจะได้พบกับความท้าทายที่น่าสนใจมากมายตลอดระยะเวลาการทำงานที่นี่

วันแรกที่มาทำงาน

ครูแมทธิวต้องเจอกับภารโรงที่เลือดตกยางออก เพราะการกลั่นแกล้งที่รุนแรงของเด็กๆ ได้พบเจอเด็กๆ ที่ชอบมาแกล้งขโมยของครู ตะโกนใส่ครูด้วยถ้อยคำหยาบคาย (เช่น “ไอ้หัวล้าน!”) และเห็นวิธีการจัดการนักเรียนที่รุนแรงของครูใหญ่รอแชง และครูชาเบิร์ท ตามวิธีคิดว่า “แรงมา = แรงกลับ” แต่ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางความมืดมนและไม่เห็นแสงสว่างของโรงเรียนดัดสันดานแห่งนี้ ครูแมทธิวกลับได้พบกับศักยภาพทางดนตรีที่แอบซ่อนอยู่ในตัวนักเรียน เขาจึงใช้ ‘ดนตรี’ เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กๆ ด้วยหัวใจที่เข้าถึงและเข้าใจผู้เรียนอย่างแท้จริง จนเกิดเป็นวงประสานเสียงในโรงเรียน ‘ฟงด์ เดอ เลตอง’

ถอดรหัสตัวละครและวิธีการสอน

ชื่อภาพ 👤 ครูเคลอมองท์ แมทธิว

ชื่อภาพ

💡 ความคิด ความเชื่อ และแนวความคิดในการทำงาน

• มีความเชื่อว่าแรงมา = ไม่จำเป็นต้องแรงกลับ

เดิมวัฒนธรรมและระบบของโรงเรียนทำให้ครูทุกคนมีความเชื่อว่า ‘เมื่อนักเรียนรุนแรงมา ครูต้องโต้ตอบกลับด้วยวิธีการที่รุนแรงเช่นกัน’ เพื่อเป็นการควบคุมความสงบเรียบร้อยของโรงเรียน แต่ครูแมทธิวก็ไม่ได้มีความเชื่อเช่นนั้น เขาเชื่อว่า มีวิธีการอื่นๆ อีกมากมายที่จะช่วยให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ และด้วยความเชื่อมั่นนี้ไม่เพียงแต่ทำให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลง คุณครูคนอื่นในโรงเรียนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงชุดความคิดของตัวเองเช่นเดียวกัน ครูแมทธิวจึงกลายเป็นที่รักทั้งของนักเรียนและเพื่อนครู จวบจนวันสุดท้ายของการเป็นครูในโรงเรียนแห่งนี้

• มีความกล้าหาญ กล้ายืดหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง

โดยในฉากที่ครูแมทธิวเริ่มทนไม่ได้กับวิธีการลงโทษเด็กๆ ของครูใหญ่ราแชง จึงได้เดินเข้าไปขอร้องกับครูใหญ่ 3 ข้อว่า 1. ขอให้ครูใหญ่ยกเลิกการลงโทษแบบยกชั้น 2. ขอให้ครูแมทธิวเป็นผู้รับผิดชอบจัดการกับคนกระทำผิดเอง 3. ไม่บังคับให้ครูแมทธิวต้องบอกชื่อของนักเรียนที่กระทำผิด โดยทั้ง 3 ข้อนี้แสดงออกถึงความกล้าหาญในต่อรองกับผู้มีอำนาจ ด้วยท่าทีเป็นมิตรและใช้เหตุผลในการต่อรอง

• เป็นครูที่รับฟังและไม่ด่วนตัดสินนักเรียน

ทุกครั้งที่มีนักเรียนกระทำผิด ครูแมทธิวจะถามนักเรียนก่อนเสมอว่านักเรียนเป็นคนทำหรือไม่ เพราะอะไรจึงทำ และได้เกิดผลเสียอะไรในสิ่งที่ทำบ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้อธิบายก่อน ถึงแม้หลายครั้งที่ครูแมทธิวโดนนักเรียนโกหกใส่ แต่ครูแมทธิวก็มักจะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พยายามอธิบายสิ่งที่ตัวเองได้ทำ จนกระทั่งนักเรียนเกิดความรู้สึกสำนึกด้วยตนเอง

ชื่อภาพ

🖌️วิธีการ/ เครื่องมือของครูแมทธิวที่ใช้ปรับพฤติกรรมของนักเรียน

1. ทำข้อตกลงใหม่กับนักเรียน

ในฉากที่ครูแมทธิวได้ตัวเด็กผู้กระทำผิดเรื่องการวางกับดักภารโรงจนได้รับบาดเจ็บ แทนที่ครูแมทธิวจะส่งเด็กคนนั้นไปให้ครูใหญ่ราแชงลงโทษ เขากลับเลือกที่จะทำข้อตกลงใหม่ร่วมกันว่า “ขอให้เขาไปทำหน้าที่ดูแลทำความสะอาดแผลของภารโรงที่ห้องพยาบาลทุกวันหลังเลิกเรียน แทนการส่งตัวให้ครูใหญ่” ซึ่งเด็กผู้กระทำผิดก็รับข้อเสนอนั้นและปฏิบัติหน้าที่ตามที่ตกลงกับครูแมทธิวทุกวันอย่างดีเยี่ยม

2. สังเกตและใส่ใจนักเรียนทุกคน

ในคาบแรกที่ครูแมทธิวเข้าสอน ครูให้นักเรียนเขียนชื่อและความฝันของตนเองว่าอยากเป็นอะไรในอนาคต แต่เมื่อครูสังเกตรอบห้องแล้วพบว่า เปปีโน่ต์ เด็กที่ตัวเล็กที่สุดในห้องเรียนไม่สามารถเขียนเล่าอนาคตความฝันของตนเองได้ จึงพยายามเดินเข้าไปใกล้ๆ แล้วพูดคุยสอบถามเพื่อให้เปปีโน่ต์รู้สึกอุ่นใจและผ่อนคลายในการเขียนมากขึ้น

3. มอบหมายบทบาทให้ตรงกับความสามารถของนักเรียน

ฉากที่เริ่มต้นทดสอบการร้องเพลงของนักเรียนทุกคน มีเปปีโน่ต์คนเดียวที่ไม่สามารถร้องเพลงได้เพราะไม่รู้จักเนื้อเพลง ครูจึงมอบหมายงานให้เปปีโน่ต์เป็นหัวหน้ากลุ่มคุมการร้องประสานเสียงแทนที่จะให้นั่งเฉยๆ นอกจากนี้ ครูแมทธิวยังเห็นความสามารถที่ซ่อนอยู่ของนักเรียนที่ชื่อ ปิแอร์ มอฮานน์ ซึ่งเป็นเด็กที่พรสวรรค์ในการร้องเพลง มีเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร จนในที่สุดมอฮานน์ได้เข้าร่วมกลุ่มร้องประสานเสียงและเป็นนักร้องหลักของวง

4. ไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ฉากที่มงแดง (เด็กเกเรที่ถูกส่งตัวมาโรงเรียน) รังแกเปปีโน่ต์ โดยการไม่ให้เปปีโน่ต์ขึ้นไปนอนถ้าไม่จ่ายเงิน วิธีการที่ครูแมทธิวทำ คือ การเข้าไปตักเตือนมงแดงทันทีด้วยการระบุถึงพฤติกรรมที่ทำ โดยไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับมงแดงแม้แต่น้อย

5. ทำความเข้าใจก่อนที่ตัดสินนักเรียน

มีหลายๆ ฉากที่ครูแมทธิวพยายามรับฟังนักเรียนก่อนที่จะตัดสิน เช่น ฉากที่เงินของครูใหญ่ราแชงได้หายไปและภารโรงไปพบหลักฐานจากคอแบง (นักเรียนที่เป็นคนขโมยไป) ครูแมทธิวจึงใช้วิธีการเรียกคอแบงมานั่งคุย พูดถึงผลกระทบในสิ่งที่เขาทำ และถามว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้ ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดนักเรียนที่กระทำผิดจะต้องถูกลงโทษ แต่การที่ครูเป็นผู้เริ่มเปิดพื้นที่รับฟังนักเรียนทำให้พฤติกรรมรุนแรงที่โรงเรียนลดน้อยลงไป

6. ใช้ตัวช่วยเป็นเครื่องมือปรับพฤติกรรม

ดนตรีถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญของหนังเรื่องนี้เลยก็ว่าได้ เพราะครูแมทธิวเคยเป็นนักดนตรีมาก่อน แม้จะมีความรู้สึกหมดหวังในช่วงแรกของการมาสอนที่โรงเรียนแห่งนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความหวังได้ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งจากการได้ยินนักเรียนคนหนึ่งร้องเพลงในห้องนอน ทำให้ครูแมทธิวมองเห็นโอกาสว่า ดนตรีจะสามารถช่วยขัดเกลาพฤติกรรมที่ไม่ดีของนักเรียนได้ ซึ่งก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงว่านักเรียนมีวินัยมากยิ่งขึ้นจากการมาซ้อมร้องเพลงกับครูแมวธิว มองเห็นคุณค่าความสามารถของตนเอง และรู้สึกภาคภูมิใจในวันที่ได้แสดงดนตรีให้แก่ผู้อุปถัมภ์ได้ฟัง

7. ชื่นชมนักเรียนให้ผู้ปกครองฟัง

ฉากที่ครูแมทธิวได้พบกับไวโอเล็ตหรือแม่ของมอฮอนน์ (นักเรียนที่เป็นผู้ขับร้องหลักของวง) ครูแมทธิวได้ชื่นชมความสามารถของมอฮอนน์ให้คุณแม่ได้ฟัง และขอให้ช่วยสนับสนุนความสามารถในการร้องเพลงของลูกด้วย (ครูแมทธิวได้ช่วยหาทุนการศึกษาด้านดนตรีให้แก่มอฮอนน์ได้เรียนต่อในอนาคต และการสนับสนุนของผู้ปกครองก็เป็นอีกหัวใจสำคัญที่จะทำให้นักเรียนสามารถศึกษาต่อได้อย่างราบรื่น)

8. พานักเรียนหาแรงบันดาลใจนอกห้องเรียน

ช่วงปิดเทอมฤดูใบไม้ผลิของโรงเรียน นักเรียนที่นี่จะไม่ได้กลับบ้าน ครูแมทธิวจึงหาวิธีการให้นักเรียนออกไปหาแรงบันดาลใจนอกโรงเรียนบ้าง เพราะเขามักสังเกตว่า นักเรียนชอบมองออกไปนอกหน้าต่าง ซึ่งเป็นโลกที่พวกเขาไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ครูแมทธิวจึงตัดสินใจพานักเรียนออกไปเที่ยว

9. การให้อภัย

ฉากที่มอฮอนน์โยนน้ำหมึกใส่ครูแมทธิว ด้วยเหตุผลว่าไม่อยากให้ครูแมทธิวมายุ่งกับแม่ของตนเอง ทำให้มอฮอนน์ถูกครูแมทธิวลงโทษโดยการไม่ให้เข้าร่วมซ้อมร้องเพลงกับทีม แต่เมื่อวันแสดงจริงกับผู้อุปถัมภ์โรงเรียนมาถึง มอฮอนน์ยืนอยู่ข้างเวที เพราะคิดว่าคงไม่ได้ร่วมวงแน่ๆ แต่เมื่อถึงท่อนโซโลเดี่ยวของมอฮอนน์ ครูแมทธิวได้ผายมือเชิญชวนให้มอฮอนน์ได้แสดงความสามารถในท่อนของตนเองอีกครั้ง สายตาของครูและศิษย์ที่ส่งหากันบ่งบอกถึงการให้อภัยและให้โอกาสของครูแมทธิว และความสุข ความภาคภูมิใจของมอฮอนน์ที่ได้รับการอภัยจากครู

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับคุณครูแมทธิวจบลงเพียงเท่านี้

ต่อไปจะเป็นการถอดรหัสอีกหนึ่งตัวละคร ที่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมทางลบในการจัดการนักเรียนและบริหารโรงเรียนค่ะ

ชื่อภาพ

👤 ครูใหญ่ราแชง

💡 ความคิด ความเชื่อ และแนวความคิดในการทำงาน

• มีความเชื่อว่า ‘แรงมา = แรงกลับ’ คือ คนทำผิดต้องถูกลงโทษ

ทุกครั้งที่ครูใหญ่ราแชงเจอกับนักเรียนที่กระทำผิด สิ่งแรกที่ราแชงทำคือการใช้ความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำ ซึ่งผลลัพธ์ของสิ่งที่ราแชงทำนั้น ยิ่งเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงที่ทวีคูณมากขึ้นไปอีก เช่น ฉากที่ราแชงตบหน้ามงแดง (เด็กเกเรที่ถูกส่งตัวมา) เพื่อให้รับสารภาพว่าได้ขโมยเงินไปหรือไม่ ซึ่งความเป็นจริงแล้วมงแดงไม่ได้เป็นคนที่ขโมยเงินไป แต่ราแชงไม่เคยฟังเหตุผลของนักเรียน และไม่เคยแม้แต่ให้โอกาสนักเรียนได้อธิบาย ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นชนวนที่ทำให้มงแดงโกรธมากและกลับมาเผาโรงเรียนจนเกิดความเสียหายในที่สุด

• ใช้วิธีการลงโทษแบบเหมารวม

ครูใหญ่จะหาตัวตายตัวแทนมาลงโทษ หรือลงโทษแบบยกชั้นหากไม่ได้ตัวผู้กระทำผิด เช่น ฉากที่กำลังหาผู้กระทำผิดที่กลั่นแกล้งภารโรง โดยราแชงออกคำสั่งว่า ‘ถ้าไม่มีใครยอมรับ หนึ่งในนักเรียนจะต้องถูกขังเป็นเวลา 6 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะมีคนสารภาพ’ ที่สุดท้ายก็ไม่มีนักเรียนคนไหนสารภาพ จนราแชงบังคับให้ครูแมทธิว (ซึ่งเป็นครูที่มาทำงานวันแรกในเวลานั้น) เป็นผู้เลือกเด็กนักเรียน ทั้งที่เขาไม่ได้รู้จักนักเรียนมาก่อน ท้ายที่สุดก็มีเด็กที่ต้องรับโทษทั้งที่ไม่ได้ทำผิดอะไร โดนขังอยู่ในห้องมืด 6 ชั่วโมง หากวิเคราะห์การกระทำของราแชงนั้น จะพบว่าเป็นการกระทำที่ไร้เหตุผล ซึ่งเป็นการสร้างบาดแผลทางใจให้แก่เด็กที่ต้องรับโทษแทน และทำให้ครูแมทธิวต้องรู้สึกผิดกับการที่เขาถูกบังคับให้เลือกเด็กเพื่อรับโทษ

• บริหารงานแบบบนลงล่าง (Top-Down)

ครูใหญ่จะใช้คำสั่งกับลูกน้อง ไม่รับฟังปัญหาและคำอธิบายจากลูกน้อง จนในที่สุดโรงเรียนก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งที่มีทางเลือกอื่นที่จะทำโรงเรียนให้ดีขึ้นได้ อย่างที่ครูแมทธิวได้ทิ้งท้ายกับครูใหญ่ราแชงก่อนที่จะถูกไล่ออกว่า “เด็กๆ ไม่ได้มีทางเลือกในการมาอยู่ที่นี่ แต่ครูใหญ่มีทางเลือกที่จะสามารถทำให้โรงเรียนนี้ดีขึ้นได้” แต่สุดท้ายจุดจบของครูใหญ่ราแชงก็ไม่ได้สวยงาม เพราะบทลงโทษที่ครูราแชงได้รับคือการถูกไล่ออกเช่นเดียวกัน เนื่องจากเด็กๆ และครูท่านอื่นได้รายงานพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของครูราแชงให้กับต้นสังกัดได้พิจารณาลงโทษตามกฎหมาย

📍 จะเห็นได้ว่าภาพยนตร์เรื่องหนึ่งสามารถให้ทั้งแนวคิดและวิธีการแก่เราได้ เฉกเช่น The Chorus ที่ถูกถอดรหัสออกมาให้เห็นถึงความคิด ความเชื่อและวิธีการต่างๆ ใน 2 แง่มุม ผ่านสองตัวละครที่มีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน ซึ่งวิธีการที่ตัวละครทั้งสองเลือกใช้นั้น ก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของนักเรียนในหลายแง่มุมด้วย

แนะแนวฮับเข้าใจว่า พื้นที่การทำงานของคุณครูแต่ละคนล้วนมีความแตกต่างกัน แต่เราก็เชื่อว่า ตราบใดที่คุณครูยังมีหัวใจและความหวังที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในห้องเรียน คุณครูก็จะสามารถมองเห็นพื้นที่แห่งความเป็นไปได้มากมาย หวังว่าแนวคิดและวิธีการของครูแมทธิว จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นอีกหนึ่งไอเดียให้คุณครูนำไปปรับใช้กับห้องเรียนของตัวเองนะคะ 🙂


พิเศษ! เปิดคอร์สออนไลน์ชวนคุณครูที่ต้องสอนแนะแนวทุกท่านมาเรียน

ชื่อภาพ

หลักสูตรการเรียนการสอนแนะแนวและการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Online)

ถ่ายทอดโดยเพื่อนครูแนะแนวผู้มีประสบการณ์ตรงในการนำไปใช้จนเห็นผลการเปลี่ยนแปลง พร้อมเคล็ดลับและคำแนะนำที่สามารถใช้ได้จริง

✅ เรียนฟรี

✅ ได้ไอเดียและกิจกรรมไปใช้สอนแนะแนว

✅ มีเกียรติบัตร

คลิกสมัครและเริ่มเรียนได้ที่ https://guidancehubth.com/courses


แชทคุยกับเรา