เจอเคสฉุกเฉิน ครูทำไงดี?


#สนับสนุนงานแนะแนว

ภาพประกอบประกาศ

#เป็นครูไม่ง่ายเลย

ในแต่ละวันคุณครู 1 คน จะต้องรับผิดชอบดูแลงานต่างๆ ให้มั่นใจว่านักเรียนมาถึงโรงเรียน ได้เรียนหนังสือ ทำกิจกรรมการเรียนรู้ ได้รับประโยชน์หรือความสะดวกจากระบบสนับสนุนต่างๆ ของโรงเรียน จนกลับบ้านอย่างปลอดภัย แต่แม้โรงเรียนจะมีแนวทางการป้องกันเรื่องความปลอดภัยด้านต่างๆ แล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เรียกว่า “#เคสฉุกเฉิน” ได้

วันนี้เราจึงอยากชวนกันทำความรู้จักและแบ่งปันแนวทางช่วยครูให้รับมือเมื่อเคสฉุกเฉินได้อย่างมั่นใจ และสามารถจัดการได้อย่างไม่โดดเดี่ยวกันค่ะ

การเป็นครูไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

#การเป็นครูไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

อย่างที่เราทราบกันดีว่าอาชีพครูมีหน้าที่หลักคือการสอน แต่จะบอกว่าหน้าที่ความรับผิดชอบของครูไทยส่วนใหญ่ มีมากกว่านั้น ซึ่งเราอาจแบ่งออกได้เป็น 4 หมวดใหญ่ คือ

  1. งานสอนหนังสือ ไม่ใช่ใครก็สามารถมาสอนหนังสือได้ เพราะการเป็นครูจำเป็นต้องมีความรู้ ทักษะ รวมถึงทัศนคติที่ดีและพร้อมสนับสนุนผู้เรียนด้วย การสอนแต่ละครั้ง มีรายละเอียดลงไปอีก ได้แก่

    • วิเคราะห์ผู้เรียน
    • ออกแบบการสอน ทำแผนการสอน
    • สอนตามคาบที่ได้รับมอบหมาย โดยระหว่างการสอน จะต้องคอยสังเกตพฤติกรรม ลักษณะการเรียนรู้ของผู้เรียนไปด้วย
    • วัดและประเมินผลผู้เรียน
  2. งานดูแลนักเรียน จักรวาลความรับผิดชอบอันกว้างใหญ่ที่หลายครั้งก็ดูไร้ซึ่งขอบเขต ด้วยเพราะอยู่ในฐานะผู้ดูแลนักเรียน ที่ต้องให้มั่นใจว่าเด็กๆ ที่ก้าวเข้ามาในรั้วโรงเรียนจะมีความปลอดภัยทั้งกายใจ สามารถร่ำเรียนเขียนอ่านได้ตามเป้าหมายการเรียนรู้ตามแต่ละช่วงวัย

  3. งานอื่นๆ นอกเหนือจากงานสอน แม้เป็นโรงเรียนใหญ่ในตัวเมือง ก็มีโอกาสที่คุณครูจะได้รับมอบหมายหน้าที่มากกว่า 1 อย่าง เช่น เป็นครูประจำชั้น ครูที่ปรึกษา ดูแลสหกรณ์ ดูแลงานทะเบียน รับผิดชอบฝ่ายงานพัสดุ ฯลฯ ยังไม่นับรวมหน้าที่การช่วยจัดและดูแลงานต่างๆ เวลาโรงเรียนจัดกิจกรรม หรือการพานักเรียนไปประกวดแข่งขันนอกโรงเรียน

  4. งานประเมินครู อีกส่วนงานที่สำคัญที่คุณครูทุกคนจะต้องสรุปการทำงานในแต่ละปีการศึกษา เพื่อประเมินผลการทำงานของตัวครู ทั้งเพื่อการพัฒนาตัวเองต่อไปและการเลื่อนขั้นวิทยฐานะ

ในแต่ละวันคุณครู 1 คน จะต้องรับผิดชอบดูแลงานต่างๆ ให้มั่นใจว่านักเรียนจะมาถึงโรงเรียน ได้เรียนหนังสือ ทำกิจกรรมการเรียนรู้ ได้รับประโยชน์หรือความสะดวกจากระบบสนับสนุนต่างๆ ของโรงเรียน จนกลับบ้านอย่างปลอดภัย แต่แม้โรงเรียนจะมีแนวทางการป้องกันเรื่องความปลอดภัยด้านต่างๆ แล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เรียกว่า “เคสฉุกเฉิน” ได้ บทความนี้ เราจึงอยากชวนกันทำความรู้จักและแบ่งปันแนวทางในการรับมือกับเคสฉุกเฉินสำหรับคุณครูค่ะ

เคสฉุกเฉิน

เคสฉุกเฉิน หมายถึง กรณีที่เกิดขึ้น มีระดับความรุนแรงที่ส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจของบุคคลนั้น หรือนักเรียนคนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องช่วยเหลือหรือบรรเทาทุกข์อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ไม่สามารถรอให้เวลาผ่านไปเป็นเดือนหรือเป็นปีได้ แต่ระยะเวลาในการช่วยเหลือหรือบรรเทาทุกข์อาจต่างกันไปตามอาการของแต่ละเคส แล้วแต่กรณี

ตัวอย่างกรณีที่เป็นเคสฉุกเฉิน เช่น

  • ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย
  • อาการทางร่างกาย, จากโรค, จากสารเคมี
  • อุบัติเหตุ
  • ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
  • หายตัวไป ขาดการติดต่อ
  • การใช้ความรุนแรงหรือเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บทั้งทางกายและใจ

หลักในการดูแลเคสฉุกเฉิน จึงจำเป็นต้องทันท่วงที ยึดที่ตัวนักเรียนเป็นสำคัญ โดยการดูแลนี้จำเป็นต้องทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพ เป็นระบบ เพื่อให้นักเรียนพ้นภัยให้เร็วที่สุด

กระบวนการช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินเบื้องต้น

กระบวนการช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินเบื้องต้น สำหรับคุณครู

ดูแล

เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ครูเห็นต่อหน้า หรือมีคนมาเลาให้ฟัง สิ่งสำคัญแรกคือ การตั้งสติ ตั้งหลัก ดูแล และเท่าทันความรู้สึกของคุณครูเองก่อน

#มีสติแม้ทุกอย่างดูจะสำคัญไปเสียหมด

ไม่แปลกเลยหากคุณครูจะเกิดความรู้สึกสับสน ทำตัวไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มจัดการอะไรก่อนหลัง เพราะการรับมือเคสฉุกเฉิน ดูจะต้องทำงานแข่งกับเวลามากๆ อย่างไรก็ดี ความเร่งด่วนนี้คือเหตุผลสำคัญและจำเป็นมากที่คุณครูจะต้องตั้งหลัก ตั้งสติก่อน ไม่ใช่เพียงการดูแลความรู้สึกของคุณครูเอง แต่รวมถึงการดูแลความรู้สึกของนักเรียนด้วย

#เชื่อมั่นในตัวเอง

หลายครั้งที่คุณครูอาจพบภาวะความรู้สึกไม่มั่นใจ แต่ขอให้เชื่อมั่นในตัวเองเถอะว่าเราทุกคนมีความสามารถในการช่วยเหลือนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ และเราทุกคนล้วนมีโอกาสเจอเคสฉุกเฉินได้

ข้อแนะนำที่อาจช่วยเสริมความมั่นใจให้คุณครู คือ การเข้าใจตัวเอง ไม่ลืมว่าแต่ละคนมีบุคลิกและความต้องการต่างกัน บางคนจะสามารถตั้งสติและเชื่อมั่นในตัวเองได้เมื่อใช้เวลาอยู่กับตัวเองซักครู่ บางคนต้องการเพื่อนพูดคุย หรือมองหาหลักยึดที่พึ่ง เช่น การติดต่อหาผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

รับมือ

ช่วงเวลาเมื่อเกิดเคสฉุกเฉิน จำเป็นต้องอาศัยทักษะการจัดการ บนพื้นฐานความรู้และหลักการที่ชัดเจน

#เข้าใจขอบเขตและหน้าที่

การรับมือเคสฉุกเฉิน จำเป็นต้องใช้ทักษะการสื่อสาร วางแผน และทำงานเป็นทีม ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง หากเกิดเคสฉุกเฉินในบริเวณโรงเรียน คุณครูอาจมีอำนาจการตัดสินใจและรับมือกับสถานการณ์ได้มากกว่ากรณีที่เกิดเคสฉุกเฉินในบ้านของนักเรียน ซึ่งถือว่าอยู่นอกเหนือพื้นที่การทำงานของโรงเรียน สิ่งที่ครูทำได้คือการช่วยติดต่อประสานความช่วยเหลือ และติดตามผลความคืบหน้า

#เรียงลำดับความสำคัญ

เรียบเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ วิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อวางแผนการทำงานที่เหมาะสม

ประสาน

ระลึกเสมอว่าเคสฉุกเฉินที่เกิดขึ้น ไม่สามารถแก้ไขจัดการได้ด้วยตัวคนเดียวลำพัง และคุณครูไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว

#ทำงานแบบสหวิชาชีพ

การทำงานร่วมกันอาจแบ่งออกเป็น

  • ภายในโรงเรียน เมื่อเกิดเคสฉุกเฉินขึ้น ควรมีการประสานขอความร่วมมือ รวบรวมและส่งต่อข้อมูล กับเพื่อนครูที่เกี่ยวข้อง เช่น ครูที่ปรึกษา และรายงานกับหัวหน้าฝ่าย ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือผู้บังคับบัญชาของโรงเรียนที่คุณครูสังกัด
  • ภายนอกห้องเรียน เมื่อรวบรวมข้อมูลและรายงานผลภายในโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปควรประสานหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องกับเคสฉุกเฉินที่เกิดขึ้น การประสานงานนี้ บางครั้งมีเป้าหมายเพื่อให้คุณครูได้ข้อมูลสำหรับนำมาใช้ภายในโรงเรียน บางครั้งเพื่อขอคำปรึกษาเฉพาะเคส หรือรวมถึงการแจ้งข่าวสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อวางแผนการเข้าช่วยเหลือร่วมกันต่อไป

*รูปแบบการประสานงานของแต่ละโรงเรียนอาจมีความเหมือนและต่างกัน ผู้อำนวยการบางโรงเรียนอาจทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อประสานงานหน่วยงานภายใน ในขณะที่บางโรงเรียนอาจให้สิทธิ์ครูแนะแนวหรือครูที่รับผิดชอบระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกได้เลย แต่ยังจำเป็นต้องมีการรายงานให้สายผู้บังคับบัญชารับทราบ ฯลฯ

ช่วยเหลือ

การช่วยเหลือเคสฉุกเฉินในบางครั้ง คุณครูอาจไม่ได้ร่วมอยู่ในกระบวนการช่วยเหลือได้อย่างที่ใจต้องการ เนื่องจากจุดที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ในขอบเขตพื้นที่ทำงานหรือความรู้ความเชี่ยวชาญของครู แต่ไม่ว่าวิธีการช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือความปลอดภัยของนักเรียน

#เข้าดูแลจัดการทันท่วงที

ขึ้นชื่อว่าเคสฉุกเฉิน จำเป็นต้องได้รับการดูแลจัดการอย่างทันท่วงที ระหว่างการช่วยเหลือ สิ่งที่คุณครูสามารถทำได้เพิ่มเติม ได้แก่ การรวบรวมหลักฐานหรือข้อมูลจากคนที่เกี่ยวข้อง การช่วยติดต่อประสานงานผู้ปกครองของนักเรียน รวมถึงการวางแผนและแบ่งหน้าที่การดูแลนักเรียนคนอื่นๆ ในโรงเรียนในระหว่างที่เกิดเคสฉุกเฉินและเตรียมพร้อมรอการกลับมาของนักเรียน เป็นต้น

ส่งต่อ

แต่ละฝ่ายงานและองค์กรทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนล้วนมีระบบการทำงานและความเชี่ยวชาญในด้านที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเข้าช่วยเหลือเคสฉุกเฉินดำเนินไปด้วยดีคือการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ

#ส่งต่อหน้าที่ความช่วยเหลือ

หากคุณครูไม่สามารถไปอยู่ข้างๆ นักเรียนระหว่างกระบวนการช่วยเหลือหรือบรรเทาทุกข์ได้ หากนักเรียนยังมีสติ สามารถรับรู้ได้ ครูควรมีการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคงทางใจให้นักเรียนคลายกังวล และรับรู้ว่ากระบวนการคร่าวๆ จะดำเนินไปอย่างไร ไม่รู้สึกตื่นตระหนกกับการต้องเจอเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ไม่รู้จัก

#ส่งต่อข้อมูลอย่างระมัดระวัง

เพื่อให้คนหรือหน่วยงานที่รับข้อมูล สามารถนำไปใช้ทำงานต่อได้ และเพื่อไม่ให้ข้อมูลที่อาจมีความเปราะบางรั่วไหล สร้างผลกระทบหรือความเสียหายอื่นๆ คุณครูจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมด และจัดเก็บข้อมูลอย่างเหมาะสม เพราะหากข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนบางอย่างถูกส่งออกไป อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อกระบวนการช่วยเหลือ ซึ่งคนที่จะได้รับผลโดยตรงก็คือนักเรียนนั่นเอง

เครดิตรูปประกอบจาก flaticon.com/authors/good-ware

2 สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณครูสามารถดูแลเมื่อเกิดเคสฉุกเฉินกับนักเรียนได้

2 สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณครูสามารถดูแลเมื่อเกิดเคสฉุกเฉินกับนักเรียนได้ คือ

  1. สร้างสะพานเชื่อมต่อความช่วยเหลือ สามารถทำได้ทั้งภายในโรงเรียน ด้วยการทำงานร่วมกับเพื่อนครูและฝ่ายต่างๆ ของโรงเรียน ส่วนภายนอกโรงเรียนนั้น ตัวอย่างคนที่คุณครูสามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูล คำปรึกษา หรือขอความช่วยเหลือได้ ได้แก่

    • ผู้ปกครอง
    • นักจิตวิทยาประจำเขตพื้นที่การศึกษา
    • นักสังคมสงเคราะห์
    • จิตแพทย์
    • ตำรวจ
    • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
    • มูลนิธิหรือหน่วยงานที่ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชน
  2. ทำหน้าที่ของคุณครูให้เต็มที่ สิ่งที่คุณครูสามารถทำได้ ภายใต้พื้นที่การทำงานและหน้าที่ความรับผิดชอบ คือ

    • การรับข้อมูลจากตัวนักเรียนเองหรือคนที่เกี่ยวข้อง
    • การรวบรวมข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ สำหรับการส่งต่อข้อมูลให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงาน
    • การติดตามผลกระบวนการช่วยเหลือ ที่ไม่รบกวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงาน เพื่อแจ้งให้ผู้ปกครองหรือทางโรงเรียนรับทราบ
    • การเตรียมความพร้อมเมื่อนักเรียนกลับมาที่โรงเรียน ทั้งตัวนักเรียนที่ประสบเคสฉุกเฉินและนักเรียนคนอื่นๆ ให้บรรยากาศภายในโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกๆ คน

เคสฉุกเฉินไม่มีเรื่องไหนง่ายเลย พวกเราอยากให้คุณครูรับรู้ว่าพวกเราจะส่งกำลังใจให้คุณครูเสมอ คุณครูไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวลำพังนะคะ หากพบความท้าทายใดๆ ลองเริ่มจากการมองหาการสนับสนุน ความช่วยเหลือ ที่อยู่รอบๆตัวนะคะ

รอติดตาม “คู่มือรับมือเคสฉุกเฉิน ไม่ต้องเผชิญคนเดี่ยวอีกต่อไป” ทั้งในรูปแบบหนังสือและโหลดทางออนไลน์ รวมถึงกิจกรรมเพื่อสนับสนุนช่วยครูให้สามารถรับมือได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพขึ้น ในเร็วๆนี้นะคะ !


แชทคุยกับเรา